“กสทช.” เอ็มโอยู “กกท.” 600 ลบ. หนุนสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลก-เร่งหาดีลจ่าย 1 พันลบ.

“กสทช.” เซ็นเอ็มโอยู “กกท.” 600 ลบ. หนุนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เร่งดีลหาสปอนเซอร์จ่ายค่าลิขสิทธิ์อีก 1 พันลบ. ฟาก “ก้องศักด” ยอมรับราคาแพงเกินไป หาก “ฟีฟ่า” ไม่ลดราคาอาจพลาดดูถ่ายทอดสด


นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) บันทึกข้อตกลงในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) ปี 2022 ในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท กับการกีฬาแห่งประเทศ หรือ กกท. โดยนายก้องศักดยอดมณี ผู้ว่าการกกท. หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ลงมติเอกฉันท์เสียงข้างมากยินดีสนับสนุนแต่อนุมัติในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับเงินจำนวน 600 ล้านบาทนั้น นำมาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553

โดยเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

อย่างไรก็ตาม กสทช. สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายเป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)

จากวันนี้ทางรอ กกท.ไปเซ็นสัญญากับทางฟีฟ่าแล้วเอาสัญญามายื่นรับเงินสนับสนุนจากทางกสทช. เราก็ยืนยันที่ให้ได้แค่ 600 ล้านบาท ซึ่งหากทางกกท.ไปดีลหาสปอนเซอร์มาเพิ่มอีก 500-600 ล้านบาท ซึ่งเวลา 15.00 น. เห็นว่าได้ข้อสรุปแล้ว” นายไตรรัตน์ กล่าว

ขณะที่ นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะได้เงินสนับสนุนจาก กสทช.จำนวน 600 ล้านบาท แต่การกีฬาแห่งประเทศไทยยังต้องหาเงินเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท จากผู้สนับสนุนภาคเอกชนเพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า 3 องค์กรยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน)และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืนยันที่จะให้เงินสนับสนุนรวมกันเป็นจำนวนเงินราว 400-500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้

สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการเดินหน้าหาผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ในขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการให้จบโดยเร็วที่สุด เงื่อนไขต่างๆที่เราส่งไปให้ฟีฟ่านั้นครบถ้วนแล้ว เราอยากจะให้ฟีฟ่าพิจารณาเรื่องราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง รวมไปถึงการแบ่งแพ็กเกจย่อยได้ไหม ตรงนี้เราต้องรอความชัดเจนอีกครั้งวันนี้ผมคิดว่าน่าจะได้คำตอบ

โดยในวันนี้มีการลงนามกับกสทช.ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นขั้นตอนที่เราจะได้เบิกจ่ายเงินเพื่อนำมาใช้ซื้อลิขสิทธิ์นี้เราได้ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องแล้ว ส่วนเงินเราก็ได้ธนาคารกรุงไทยที่ให้การดูแลเป็นอย่างดี ทุกอย่างกำลังขับเคลื่อนไป ตอนนี้อยู่ที่การตัดสินใจของฟีฟ่าว่าจะเอาอย่างไร ขณะนี้ภาคเอกชนก็ให้การตอบรับและพร้อมให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีแต่ยังขอไม่เผยรายละเอียด

นายก้องศักด กล่าวถึงจำนวนเงินที่ยังขาดอีกเท่าไหร่นั้น คงจะยังตอบไม่ได้เพราะทางฟีฟ่ายังไม่ได้ตอบมาเรื่องจำนวนที่ชัดเจน เราพยายามต่อรองให้เขาลดราคาให้ได้ 1,600 ล้านบาทเราคงไม่จ่ายราคานี้ เป็นตัวเลขที่มากเกินควร ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราราคานี้ถือว่าสูงเกินไป เดดไลน์ของเราคือก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ถ้าคุยไม่ลงตัวก่อนวันที่ 20 และฟีฟ่าเขาไม่ยอมลดราคาจริงๆ คงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ถ้ามันเป็นราคาที่สูงเกินไปเราคงรับไม่ได้ ครั้งนี้ก็อาจจะไม่มีการถ่ายทอดสดเกิดขึ้น ถ้าการผ่อนผันเรื่องราคาไม่เกินขึ้น แต่เรายังเชื่อว่าทางฟีฟ่าคงจะมีทางออกหรือข้อเสนออื่นๆ ให้ได้พิจารณา

Back to top button