ก.ล.ต. สั่ง “บล.เอเชีย เวลท์” หยุดยาว หลังเงินทุนต่ำเกณฑ์
ก.ล.ต. สั่งให้ “บล.เอเชีย เวลท์” ระงับดำเนินธุรกิจทุกประเภท และโอนทรัพย์สินลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่นให้เสร็จภายใน 10 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.65 เนื่องจากไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ Net Capital: NC ได้ตามที่กฎหมายกำหนด
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท และโอนทรัพย์สินลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามกฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ระบุว่า บริษัท หลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital: NC) ได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเงินกองทุนต่ำกว่า 0 ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.65 ซึ่งตามประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ สธ. 64/2563 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจและข้อกำหนดในกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ต้องดำเนินการตามที่กำหนดในประกาศ ดังนี้
1.ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้และได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ เว้นแต่เข้ากรณียกเว้นตามที่ประกาศกำหนด เช่น เป็นการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของบริษัท และการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่ รวมถึงการดำเนินการตามความจำเป็นและสมควร เพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าได้รับความเสียหาย เช่น การล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามคำสั่งของลูกค้า หรือเพื่อเปลี่ยนตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนกับผู้ออกตราสารดังกล่าว เป็นต้น
2.ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีไว้เพื่อตนเอง เว้นแต่เป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยง
3.โอนทรัพย์สินของลูกค้าในบัญชีเงินสดไปยังผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อื่น เพื่อการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า และโอนทรัพย์สิน และฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้ ให้แล้วเสร็จภายใน 10 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565
4.แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องข้างต้นโดยไม่ชักช้า หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามข้อ (3) ให้บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการติดตามฐานะการเงินและสภาพคล่องของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด