กทพ. เดินหน้าแก้รถติด “งามวงศ์วาน-พระราม 9” สร้างทางด่วน 2 ชั้น งบ 3 หมื่นล้าน
“กทพ.” จ่อผุดทางด่วน 2 ชั้น "งามวงศ์วาน-พระราม 9" ระยะทางประมาณ 17 กม. วงเงิน 3 หมื่นล้าน เล็งดึง BEM ลงทุนก่อสร้าง คาดชงเข้าครม. มิ.ย. 66
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ (กทพ.) เข้าเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงการและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับรวมถึงขอบเขตการศึกษา ตลอดจนข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการ
ทั้งนี้กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กม. โดยเฉพาะต่างระดับพญาไท ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากมีปริมาณจราจรเฉลี่ยกว่า 4 แสนคัน/วัน ในขณะที่เส้นทางมีความจุประมาณ 3 แสนกว่าคัน/วัน ทำให้ต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง
โดยเมื่อวันที่ (5 เม.ย.65) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการศึกษาโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วนในภาพรวมทั้งระบบตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร.เห็นชอบ โดยกทพ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา กลุ่มบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ มีระยะเวลาการศึกษาประมาณ 450 วัน ช่วง(มิ.ย.65-ส.ค.66) ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลทั้งหมดภายในครึ่งแรก ปี 66 โดยจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณา และเสนอครม.เห็นชอบในเดือน มิ.ย.66
ขณะเดียวกัน จะนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 66 และได้รับความเห็นชอบปลายปี 66
สำหรับเบื้องต้นโครงการมีมูลค่าลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยต้องก่อสร้างซ้อนบนโครงข่ายทางด่วน ซึ่งปัจจุบันบางช่วงมีความสูงถึง 19 เมตร จึงมีค่าลงทุนสูงและก่อสร้างค่อนข้างยาก ในขณะที่ปริมาณจราจรจะแบ่งมาจากผู้ใช้ทางด่วนเดิมจึงประเมินว่า ผลตอบแทนการเงินอาจไม่สูงมาก โดยมี EIRR ประมาณ 16% แต่เป้าหมายหลักคือต้องการแก้ปัญหาจราจรดังนั้นการดำเนินการรูปแบบใดต้องพิจารณาในทุกมิติอย่างครบถ้วน
ขณะนี้ มี 2 ทางเลือกในการดำเนินการ คือ 1.กทพ.ดำเนินการก่อสร้างเองโดยใช้เงินกู้ 2.ให้เอกชนมาร่วมลงทุน และจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งแนวทางที่ 2 ต้องพิจารณากรณีมีเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะกระทบกับการบริการ และซับซ้อนกับสัญญาสัมปทานของทางด่วนเดิม ดังนั้น จะต้องนำข้อดีข้อเสีย หารือต่อผู้มีอำนาจพิจารณา
ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 และเก็บค่าผ่านทาง โดยมีการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานเดิมที่เหมาะสม
โดยพื้นที่ศึกษาครอบคลุมใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ เมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้ คือ เขตบางซื่อ, จตุจักร, พญาไท, ดุสิต, ราชเทวี, ดินแดง, ห้วยขวาง
ส่วนแนวสายทาง เหนือ-ตะวันออก (ประชาชื่น-พญาไท-อโศก) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไทผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสันและมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 รวมระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร
โดยโครงการจะยกระดับซ้อนบนทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มีขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจร ต่อทิศทาง) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง คือการประชาชื่นและด่านมักกะสัน มีทางขึ้น 3 แห่งได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาเข้าเมือง), บางซื่อย่านพหลโยธิน (ขาเข้าเมือง), อโศก (ขาเข้าเมือง) และทางลงสู่ทางด่วน 4 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาออกเมือง) บางซื่อ ย่านพหลโยธิน (ขาออกเมือง) มักกะสัน (ขาออกเมือง) อโศก (ขาออกเมือง)