“หมอโอภาส” ชี้ โควิดสูงขึ้น หลังยอดป่วยรพ. พุ่ง 20% เร่งฉีดวัคซีนกระตุ้น
“นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” เผยถึงสถานการณ์โควิดเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 10-20% ผู้เสียชีวิตไม่มากนัก เฉลี่ยไม่เกิน 10 รายต่อวัน แนะนำเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นและควรใส่หน้ากากอนามัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการติดเชื้อที่เริ่มเพิ่มมากขึ้น ว่าขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) เพิ่มขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 10-20% ผู้เสียชีวิตไม่มากนัก เฉลี่ยไม่เกิน 10 รายต่อวัน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจึงต้องติดตามใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศรายงานว่า แต่ละแห่งยังรองรับสถานการณ์ได้แม้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอก แพทย์ให้ยาไปรักษาตามที่วินิจฉัย ส่วนการรักษาใน รพ. ที่ต้องใช้เตียง ไอซียู เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยก็ยังไม่ได้เพิ่มแบบมีนัยสำคัญจนต้องเพิ่มมาตรการ ก็มีแค่เน้นย้ำฉีดวัคซีนและใส่หน้ากากอนามัย
“ส่วนสูงอายุที่มีข่าวเสียชีวิตที่บ้านช่วงนี้ คงต้องไปดูการเสียชีวิตแต่ละราย หลายรายอาการไม่เหมือนโควิด อยู่ ๆ เสียชีวิต ไปตรวจ ATK พบ แต่การตรวจ ATK เป็นการคัดกรองเบื้องต้น การวินิจฉัยยืนยันต้องตรวจรายละเอียดมากกว่านั้น ซึ่งกรมควบคุมโรคจะลงไปดูรายละเอียด ซึ่งแนวทางการรักษากลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิดไกด์ไลน์ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง” นพ.โอภาสกล่าว
โดยการระบาดในรอบนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ เป็นลักษณะของคลื่นเล็กๆ (Small Wave) การมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในการคาดการณ์ ซึ่งจะเพิ่มตามวงรอบ คือ ช่วงพฤศจิกายน และธันวาคม โดยหลังปีใหม่จะค่อยลดลง แต่ต้องดูเหตุการณ์จริงอีกครั้ง
ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมารับวัคซีน คือ สถานการณ์การระบาดของโรค เมื่อไหร่ที่มีผู้ติดเชื้อลดลง คนจะมาฉีดวัคซีนกันน้อยลง แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก ประชาชนก็จะมารับวัคซีนเพิ่มขึ้น เมื่อวานนี้ (24 พ.ย.65) ตนและรองปลัด สธ. ประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) โรงพยาบาล (รพ.) ศูนย์ รพ.ทั่วไป ทั่วประเทศ โดยมีการสั่งการกำชับให้กำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนในระยะนี้อย่างจริงจัง พร้อมมีการติดตามต่อเนื่อง
สำหรับวิธีการคือ 1.ให้ทุก รพ.ในสังกัด สธ. จัดจุดฉีดวัคซีนโควิด กำหนดการให้บริการอย่างเหมาะสม เช่น กำหนดวันฉีดเพื่อให้ประชาชนมารับบริการอย่างสะดวก 2.กรณีประชาชนมาวอล์คอิน (Walk-In) ก็ต้องให้ให้บริการฉีดให้ 3.สำหรับวัคซีนบางชนิดที่ 1 ขวด ฉีดได้หลายโดส ก็ขอให้แต่ละ รพ.บริหารจัดการให้เหมาะสม พิจารณาถึงประโยชน์ เช่น 1 ขวดแต่ต้องฉีด 1 คน ก็ให้ฉีดดีกว่ารอให้ครบแล้วค่อยฉีด สุดท้ายก็ไม่ได้ฉีด
โดยย้ำกับผู้ปฏิบัติงานว่าไม่ต้องกังวล เนื่องจากเรามีวัคซีนเพียงพอ สามารถฉีดให้ประชาชนได้เลย อย่างไรก็ตาม สามารถติดต่อรับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพราะเราทราบดีกว่าถ้าประชาชนต้องเดินทางมาที่อำเภอ ก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทาง เราจึงต้องนำวัคซีนไปใกล้บ้าน หากที่ใดสามารถทำรถเคลื่อนที่ฉีดได้ (Mobile unit) ก็ควรนำไปฉีดให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน
“จะมีการติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและวัคซีนต่อเนื่อง เพื่อสรุปรายงานปลายเดือนนี้ สำหรับไวรัสกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ อย่างไวรัสไข้หวัดใหญ่ ก็กลายพันธุ์จนเราต้องฉีดวัคซีนทุกปี เชื้อโคโรน่าไวรัสก็เช่นกัน ที่กลายพันธุ์จากสายดั้งเดิม จนมาถึงโอมิครอน สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 ที่เพิ่มขึ้นช่วงนี้ แต่ยังเป็นการกลายพันธุ์ย่อย องค์การอนามัยโลก(WHO) ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อสายพันธุ์ โดยภาพรวมยังเป็นโอมิครอนอยู่” นพ.โอภาส กล่าว