จับตาวันนี้! ศาลชี้ขาด “พ.ร.ป.เลือกตั้ง” สูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?

วันนี้! ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หลังพรรคการเมืองขนาดเล็ก และ ส.ว.ยื่นวิจิฉัยปมสูตรหาร 100 ส.ส.บัญชีรายชื่อ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (30 พ.ย. 65) ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุม เพื่อพิจารณาวาระหลายเรื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. … มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวม 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132

โดยก่อนหน้านี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยเนื้อหาสาระคดี โดยเห็นว่าคดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในช่วงเช้าวันนี้ (30 พ.ย. 65) เวลา 09.30 น. ก่อนที่จะอ่านคำวินิจฉัยในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

สำหรับข้อกล่าวหา ที่ ส.ส. และ ส.ว. รวม 105 คน ยื่นเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ขัดรัฐธรรมนูญ มี 3 ประเด็นได้แก่

1.การที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน มีเหตุควรสงสัยว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ใช้วิธีถ่วงเวลาประชุม จงใจให้กฎหมายไม่เสร็จในกรอบเวลา ซึ่งทั้งสองพรรคมีความได้เปรียบมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงใช้เทคนิคทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จนต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 ในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขัดต่อเจตนารมณ์ของการกำหนดกรอบเวลาเพื่อให้รัฐสภาใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่ให้ใช้เทคนิคทำให้ร่างกฎหมายตกไป จึงไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา

2.กรณีหากต้องมีการเลือกตั้งใหม่บางเขตหรือบางหน่วยก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ห้ามนำคะแนนการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของเขตที่ต้องเลือกตั้งใหม่มาคำนวณหา ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับ โดยการแก้ไขครั้งนี้ ไม่ได้มีข้อห้ามดังกล่าว ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ถ้าต้องเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคพึงได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.

3.กรณีประเด็น ภายในหนึ่งปีหลังจากเลือกตั้งทั่วไป ถ้ามีผู้สมัคร ส.ส. ทุจริตการเลือกตั้ง หรือต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยห้ามนำคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมมาคำนวณรวมด้วย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

Back to top button