“มอร์” เอฟเฟกต์! “ตลท.-สมาคมโบรก” เตรียมปรับเกณฑ์ซื้อขาย-รับหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์ฯ – สมาคมโบรกเกอร์ เตรียมออกแนวทางการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการดำเนินงาน ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์


สืบเนื่องจากกรณีการซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ได้มีการทำงานร่วมกันและประสานงานกับหน่วยงานกำกับมาอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุนในการปรับปรุงกระบวนการและกลไกการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที สร้างความเชื่อมั่น สร้างการทำงานที่มีเอกภาพ ดังนี้

โดยในระยะสั้น สิ่งที่บริษัทหลักทรัพย์สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อบริหารความเสี่ยง ได้แก่

1.ทบทวนการพิจารณา risk profile ของลูกค้าที่อาจมีความไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงสูง เช่น ลูกค้าที่มีวงเงินสูง มีการซื้อขายกระจุกในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะหุ้น Market Cap เล็ก

2.พิจารณาปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานภายใน เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งสร้างความพร้อมในการรับมือวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น เช่น การพิจารณาวงเงิน การพิจารณามูลค่าหลักประกัน

สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพในระยะยาว ในประเด็นต่างๆ ทั้งเชิงโครงสร้าง การปรับเกณฑ์ทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาดำเนินการในอนาคต ได้แก่

บริษัทหลักทรัพย์

1.ปรับปรุงกฎเกณฑ์ และมาตรฐานและระเบียบวิธีการดำเนินงาน เช่น การพิจารณาลูกค้า แนวทางการให้วงเงินลูกค้า การพิจารณาหลักประกัน

2.พัฒนาศูนย์ข้อมูล (Investor Information Bureau) เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการบริหารความเสี่ยงเช่นเดียวกับ credit bureau เช่น ข้อมูลวงเงิน ข้อมูลการใช้วงเงิน เป็นต้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการรับหลักทรัพย์ และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.ปรับปรุงเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ในแต่ละตลาด (SET, mai, LiVEx) ให้มีความเหมาะสม

2.ปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการ และความซับซ้อนของภาวะตลาดในปัจจุบัน

3.ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งแก้ไขกฎเกณฑ์การใช้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อใช้ในการตรวจสอบและวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อขาย เช่น ข้อมูลการถือครองหุ้น เป็นต้น

4.ปรับปรุงขั้นตอนในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่นๆ ให้สามารถป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและเหมาะสม

อย่างไรก็ดีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย จะหารือกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

Back to top button