เก็บต๋งหุ้นยังอลหม่าน! นักลงทุนเดย์เทรดเหนื่อย-เอื้อลงทุนยาว
ภาษีขายหุ้นยังอลหม่าน! นักลงทุนเล่นสั้นเหนื่อย เอื้อลงทุนยาว “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” ย้ำต้องหาทางปรับกลยุทธ์เข้าสู้ ส่วน “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” บอกนี่คือ “สัญญาณอันตราย” ด้านกรมสรรพากร ชี้ Market Maker เป็นนิติบุคคลไม่ใช่บุคคลธรรมดา ธปท.มองกระทบแค่ช่วงแรก ไม่มีผลต่อฟันด์โฟลว์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับหลักการการจัดเก็บภาษีขายหุ้น พร้อมส่งให้กฤษฎีกาตีความ ล่าสุดรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” และ “นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษบุคคลในแวดวงตลาดหุ้นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
โดยนายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ ระบุว่า ในมุมมองส่วนตัวคงต้องน้อมรับ หากกระทรวงการคลังตัดสินใจแบบนี้ แต่สิ่งที่โบรกเกอร์ต้องเตรียมตัว คือ มองหารายได้ใหม่ๆ เพื่อที่จะนำมาชดเชยรายได้ค่าคอมฯ ที่จะลดลง ส่วนในมุมของนักลงทุนระยะยาว คงไม่ได้รับกระทบ แต่ระยะสั้นเชื่อว่าการเก็งกำไรมีแนวโน้มลดลง และเชื่อว่ามูลค่าการซื้อขายเมื่อบังคับใช้เต็มรูปแบบ จะลดลงอย่างน้อย 10-15%
ขณะที่นายวิชัย วชิรพงศ์(เสี่ยยักษ์) นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า เรื่องภาษีขายหุ้นมีผลดี คือ การเก็งกำไรจะลดลง ต้นทุนของนักลงทุนจะเพิ่มขึ้น ทั้ง TFEX และบล็อกเทรดก็เสียหายเช่นกัน แต่ด้วยส่วนตัวที่อายุมากขึ้น การเทรดก็ลดลง ขณะเดียวกันมีนักลงทุนรุ่นใหม่ และโรบอทเทรดเกิดขึ้นมา จึงเปลี่ยนสไตล์การลงทุนมาเป็นแบบระยะยาว ดังนั้น ส่วนตัวมองว่า การเก็บภาษีขายหุ้น จะช่วยลดความผันผวนของตลาด และทำให้นักลงทุนระยะยาว มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น
ด้าน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) มองว่า ส่วนตัวไม่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้น เพราะเทรดน้อย แต่นี่คือสัญญาณอันตรายว่า ตลาดหุ้นไทยไม่ได้เป็นมิตรกับนักลงทุน ทำให้เกิดความกลัวว่า วันใดวันหนึ่ง อาจเก็บภาษีกำไรขายหุ้น หากวันนั้นมาถึง จะเกิดการปั่นป่วนของตลาดหุ้นอย่างหนัก
ส่วนนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงเกณฑ์การยกเว้นภาษีหุ้น ว่า มีความเข้าใจคาดเคลื่อนไปมาก โดยยืนยันว่า ไม่มีการยกเว้นภาษีให้กับนักลงทุนรายใหญ่อย่างที่เข้าใจกัน เพราะเกณฑ์นี้ไม่ได้ยกเว้นส่วนบุคคล แต่ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ที่มีหน้าที่ดูแลราคาหุ้น (Market Maker) เพื่อให้เกิดสภาพคล่องเท่านั้น
การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ จึงมีการยกเว้นภาษีให้แก่ Market Maker และกองทุนบำนาญ (Pension Fund) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ยกตัวอย่างประเทศที่มีการยกเว้นภาษีให้ Market Maker เช่น สหราชอาณาจักร ฮ่องกง ฝรั่งเศส อิตาลี ประเทศยกเว้นให้ Pension Fund เช่น อิตาลี
ส่วน Market Maker คือผู้ดูแลสภาพคล่อง หมายถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่มิใช่สมาชิก และได้รับการรับรองการเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องจากสมาชิก โดยมีหน้าที่ทำการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง (Continuous Quotes) เพื่อให้มีราคาปรากฏในระบบการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง และมีสภาพคล่องและอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาขาย หรือเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดย Market Maker จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น ทั้งนี้ Market Maker จะดูแลสภาพคล่อง ส่วนใหญ่จะเป็น Derivative Warrant, Depository Receipt, Infrastructure Fund, REIT
ส่วนกองทุนบำนาญ คือกองทุนผู้จ่ายเงินสมทบ หรือเงินสะสมเข้ากองทุน สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ โดยกองทุนบำนาญที่จะได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่ (1) สำนักงานประกันสังคม (2) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) (3) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) (4) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (5) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) (6) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) (7) กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม หรือกองทุนตาม (2) ถึง (6) เท่านั้น
สำหรับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ Market Maker และกองทุนบำนาญไม่มีการกําหนดเวลา และการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในระยะยาว
ด้านมูลค่าการขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉลี่ย 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564 อยู่ที่ 16,074,862 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า การเก็บภาษีหุ้นช่วงแรก อาจกระทบตลาดทุนบ้าง แต่เชื่อว่า ภาพรวมจะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดทุน โดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้าย