BTG แจงแทน “ภัทร” ไม่มีเอี่ยวกำไรจาก “กรีนชู” ชี้มีสัญญาซ้อน! ดึงส่วนต่างเข้าบริษัท
“เบทาโกร” โร่แจงแทนอันเดอร์ไรท์! ยัน “เกียรตินาคินภัทร” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกำไรจากหุ้นกรีนชู ชี้สื่อไม่เข้าใจหลักการ พร้อมระบุมีทำสัญญาซ้อนเพื่อดึงส่วนต่างจากยุทธการ “ชอร์ตเซล” เข้าบริษัท แต่ยังไร้แววชี้แจงรายละเอียดของสัญญาดังกล่าว
จากกรณีที่ “เว็บไซต์ข่าวหุ้นธุรกิจ” รายงานเช้าวันนี้ (2 ธ.ค.) ว่า บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG ได้เสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยมีจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งสิ้น 500,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.0 บาท แบ่งเป็น 1) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยบริษัทฯจำนวน 434,800,000 หุ้น และ 2) การจัดสรรหุ้นส่วนเกินอีก จำนวน 65,200,000 หุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน) ซึ่งได้ยืมหุ้นส่วนเกินดังกล่าวมาจาก บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด (BTH) เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่บริษัทฯเสนอขาย
ทั้งนี้ “เกียรตินาคินภัทร” มีหน้าที่ดำเนินการจัดหาหุ้นสามัญของบริษัทฯเพื่อส่งมอบคืนให้แก่ BTH ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันแรกที่เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดกระบวนการและระยะเวลาการจัดหาหุ้นส่วนเกิน บริษัทฯได้รับแจ้งว่า “เกียรตินาคินภัทร” ได้จัดหาหุ้นสามัญเพื่อส่งมอบคืนให้แก่ BTH โดยการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯครบตามจำนวนหุ้นที่ยืมมาแล้ว จึงไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพิ่มเติมจากบริษัทฯ และถือเป็นการสิ้นสุดกระบวนการและระยะเวลาการจัดหาหุ้นส่วนเกิน
ภายหลังจากที่ BTH ได้รับหุ้นคืนจากผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินแล้ว BTH จะถือหุ้นของบริษัทฯ จำนวนทั้งสิ้น 700,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.18 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนหุ้นชำระแล้วจำนวน 1,934,800,000 หุ้น
สำหรับ BTG เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยการเสนอขายหุ้น IPO ให้ประชาชนทั่วไปจำนวน 434.80 ล้านหุ้น ที่ราคา 40 บาทต่อหุ้น และให้สิทธิ บล.เกียรตินาคินภัทร ในการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) เสนอขายจำนวน 65.20 ล้านหุ้น ส่งผลให้มีหุ้นทั้งหมดในการขายจำนวน 500 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าการทำไอพีโอ 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น BTG นับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ามีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนลงไปทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (All-time Low) ที่ระดับ 32.50 บาท เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ดังนั้นหาก “เกียรตินาคินภัทร” ใช้สิทธิ Green Shoe Option จำนวน 65.20 ล้านหุ้น และเข้าซื้อหุ้นคืนที่ราคาดังกล่าว จะส่งผลให้มีกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น จำนวน 7.50 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นกำไรรวมสูงถึงราว 489 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน หากสำรวจดูราคาปิดโดยเฉลี่ยของหุ้น BTG นับตั้งแต่เข้าเทรดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. จนถึง วันที่ 1 ธ.ค. 65 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 35.64 บาท ซึ่งถ้าอ้างอิงจากราคานี้ว่าเป็นราคาเฉลี่ยที่ “เกียรตินาคินภัทร” ซื้อหุ้นมาคืน BTH หรือเจ้าของหุ้นเดิมที่ถูกยืมหุ้นมาขายพร้อมกับ IPO ออกใหม่ จะส่งผลให้ “เกียรตินาคินภัทร” ได้รับส่วนต่างราคาราว 4.36 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นตัวเลขกำไรรวม 284.27 ล้านบาท
โดยจะมีการบันทึกกำไรจากการทำรายการครั้งนี้เข้ามาในงบการเงินงวดไตรมาส 4/65 ของ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 99.97% ของ บล.เกียรตินาคินภัทร ทันที
โดยล่าสุด BTG ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์โดยได้ให้ข้อเท็จจริงว่าเงินส่วนต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน ผู้ให้ยืมหุ้น หรือผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ แต่อย่างใด โดยภายใต้ข้อตกลงในสัญญาที่เกี่ยวข้อง เงินส่วนต่างดังกล่าวจะตกเป็นของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ หลัง IPO นอกจากนั้น เงินส่วนต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้มีจำนวนมากดังที่สื่อและสำนักข่าวบางแห่งได้กล่าวถึง
การจัดสรรหุ้นส่วนเกินและกระบวนการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นของบริษัทฯ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของสานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำ IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัทฯ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ โดยมีลักษณะที่สอดคล้องกับธุรกรรม IPO ที่มีขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ