หวั่นติดซ้ำ! โควิด BA.2.75 ครองไทย “หลบภูมิ-ระบาดเร็ว” แนะฉีดเข็มกระตุ้น
โควิด BA.2.75 สัดส่วนเพิ่ม “หลบภูมิ-ระบาดเร็ว” กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแทนที่สายพันธุ์ BA.5 แนะฉีดเข็มกระตุ้น, สวมหน้ากากอนามัย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด-19 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 65 จากผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 435 ราย พบว่า ในภาพรวมสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% จากสัปดาห์ก่อน ที่มีสัดส่วน 58.9%
ทั้งนี้เมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 60.1% เป็น 75.4% ทำให้ขณะนี้สายพันธุ์ BA.2.75 กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแทนที่สายพันธุ์ BA.5
โดยจากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2), BA.2.75.3.4.1.1.1.1 (CH.1.1) มากกว่า 856 ราย
สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน สถานการณ์ในประเทศที่มีสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.5
ทั้งนี้บ่งชี้ว่ามีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า สามารถป่วยซ้ำได้อีก อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์
นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรป จำนวน 13 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBB และลูกหลานที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบจำนวน 30 ราย
ส่วนสายพันธุ์ XBC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 ที่มีข่าวระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ พบเพียง 1 ราย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งไม่พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการผสมกันเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอนขึ้นภายในประเทศ และหากไม่พบว่าแพร่ได้เร็วก็จะหายไปในที่สุด
อย่างไรก็ดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเพาะเชื้อสายพันธุ์ที่พบใหม่ เพื่อการทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยว่าสามารถลบล้างเชื้อ (Neutralize) ได้มากน้อยเพียงใด
“การปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันโรค ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น สามารถลดโอกาสติดเชื้อ และลดอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว