PTTEP ทุ่ม 1 ล้านลบ. ลุยผลิตปิโตรเลียม ดันปริมาณขายปี 70 แตะ 5.5 แสนบาร์เรลต่อวัน
PTTEP กางแผน 5 ปี (66-70) ทุ่มงบ 1 ล้านลบ. ลุยสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียม หวังดันปริมาณขายปี 70 แตะ 5.5 แสนบาร์เรลต่อวัน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 93
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิ โตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า บริษัทเปิดแผนการดำเนินงานประจำปี 66 ภายใต้แผนกลยุทธ์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) ,การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Decarbonize) และการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) รวมถึงการขยาย
การลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยมีประมาณการรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 5,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์สรอ.) แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) 3,152 ล้านดอลลาร์ สรอ. และรายจ่ายดำเนินงาน(Operating Expenditure) 2,329 ล้านดอลลาร์ สรอ.แผนการดำเนินงานในปี 2566 จะให้ความสำคัญกับแผนงานหลักดังนี้
1.การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเร่งกิจกรรมสำรวจ พัฒนาและผลิตเพิ่มเติมจากโครงการปัจจุบัน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศไทย จากโครงการผลิตหลักที่สำคัญได้แก่ โครงการ จี1/61 (แหล่งเอราวัณ),โครงการ จี 2/61 (แหล่งบงกช), โครงการอาทิตย์,โครงการคอนแทร็ค 4,โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 2,655 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผนงาน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ในธุรกิจสำรวจและ ผลิตปิโตรเลียม ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) พร้อมเป้าหมายระหว่างทางในการลดปริมาณความเข้ม (Intensity) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปีพ.ศ.2573 และร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2583 (จากปีฐาน 2563) ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน การใช้พลังงานหมุนเวียน การติดตั้งอุปกรณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการดำเนินโครงการตามกลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต เป็นต้น โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้จำนวน 53 ล้านดอลลาร์ สรอ.
2.การเร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการมาเลเซีย เอสเค 410บี และโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน โดยบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 322 ล้านดอลลาร์ สรอ.
3.การเร่งดำเนินการสำรวจในโครงการสำรวจและโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้วที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 193 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับการศึกษาทางธรณีวิทยาและการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลสำหรับโครงการในประเทศไทย มาเลเซียและโอมานเพื่อการดำเนินงานตามแผนข้างต้น ปตท.สผ. ได้จัดทำประมาณการรายจ่ายสำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2566-2570) รวมจ่ายทั้งสิ้น 29,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.01 ล้านล้านบาท ตามรายละเอียดดังนี้
จากแผนงานดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. คาดการณ์ตัวเลขประมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันจากโครงการปัจจุบัน ระหว่างปี 2566–2570 ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ปตท.สผ. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) บริษัทได้เริ่มดำเนินการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยได้สำรองงบประมาณไว้กว่า 4,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับปี 2566-2570 ในการศึกษาและพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าผ่านโครงการ Gas to Power และพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS Initiative) การดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์(CCU) การศึกษาธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ และธุรกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต พร้อมการดูแลสังคมและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย