“กนอ.-ไทยแท้งค์ฯ” ลงนามร่วมทุน บริหารท่าเทียบเรือ-คลังสินค้าเหลว 30 ปี
กนอ. ลงนามสัญญาร่วมทุน “ไทยแท้งค์เทอร์มินัล” บริหารท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว-คลังเก็บสินค้าเหลว ระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี จับตา GULF รับอานิสงส์หลังเข้าถือหุ้น 28.57% ในไทยแท้งค์ฯ
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ลงนามสัญญาร่วมลงทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) กับ บริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด ดำเนินกิจการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว และคลังเก็บสินค้าเหลว ระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ถือเป็นโครงการร่วมลงทุนที่ 2 ที่ กนอ. ลงนามในสัญญาร่วมทุนฯ ถัดจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โดยบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการท่าเรือมากกว่า 30 ปี
ทั้งนี้กนอ. จึงเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทฯ ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของประเทศไทยไปสู่ประตูเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยเงื่อนไขมูลค่าการลงทุนภายใน 30 ปีข้างหน้า เราต่อรองได้มากกว่าที่ ครม.กำหนด จาก 10,600 ล้านบาท เป็น 14,881 ล้านบาท ถือเป็นความสำเร็จของคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารพื้นที่รองรับสินค้าเหลว ที่เชื่อว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับการลงนามในครั้งนี้ กนอ. จะให้สิทธิการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวและคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหลว เนื้อที่โครงการรวม 182.1535 ไร่ พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่โครงการ ระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา โดยบริษัทฯ มีหน้าที่บำรุง รักษา และซ่อมแซมถังกักเก็บสินค้าเหลว จำนวน 102 ถัง (ถังเก็บแบบตั้งบนดิน On Ground) และถังกักเก็บของเสีย (Slop Tank) จำนวน 5 ถัง รวมถึงงานก่อสร้างทดแทนถังกักเก็บสินค้าเหลวข้างต้น เพื่อรักษามาตรฐานของถังกักเก็บสินค้าเหลวให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ราชการกำหนด สามารถรองรับปริมาณสินค้าเหลวได้ไม่ต่ำกว่า 723,000 ลูกบาศก์เมตรตลอดระยะเวลาโครงการ และให้มีการลงทุนเพิ่มพร้อมออกค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการตลอดระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 14,881 ล้านบาท โดย กนอ. จะได้ผลตอบแทนตลอดระยะเวลาโครงการเป็นเงินมูลค่ารวม 20,236.68 ล้านบาท
ทั้งนี้ ครม.กำหนดให้มีการเจรจาเพื่อเพิ่มสัดส่วนของบริษัทไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันบริษัทไทยมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ผ่านมา
อนึ่งบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด (TTT) ในสัดส่วนร้อยละ 28.57 หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 2,059.2 ล้านบาท ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นใหม่ของ TTT ประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 36.43 (จากเดิมร้อยละ 51) และ Vopak Holding International B.V. (Vopak) ถือหุ้นร้อยละ 35 จากเดิมร้อยละ 49 และบริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 28.57