“ดาวฟิวเจอร์” พุ่งกว่า 200 จุด เก็ง “เงินเฟ้อ” ผ่านจุดพีคแล้ว

“ดาวโจนส์ฟิวเจอร์” พุ่งกว่า 200 จุด แตะ 34,474 จุด คาดเก็งตัวเลข “เงินเฟ้อ” สหรัฐ เดือนพ.ย.65 ผ่านจุดสูงสุดแล้ว


ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด ขานรับคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐผ่านจุดสูงสุดแล้ว

โดย ณ เวลา 19.48 น. ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 205 จุด หรือ 0.6% สู่ระดับ 34,474 จุด

กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนพ.ย.ในวันนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลข CPI ดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 7.3% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 7.7% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ย. จากระดับ 0.4% ในเดือนต.ค.

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 6.1% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 6.3% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนต.ค.

นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้สหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI สูงกว่าคาดในวันนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพรุ่งนี้ โดยเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ตัวเลขดัชนี CPI ที่สูงกว่าคาดจะส่งผลกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของเฟด

นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมรอบนี้ หลังจากปรับขึ้น 0.75% เป็นจำนวน 4 ครั้งติดต่อกัน ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.

ทั้งนี้ตลาดจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวลหลังการประชุมพรุ่งนี้ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2566 รวมทั้งการเปิดเผยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่เฟดในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะส่งสัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดจนถึงปี 2568

นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทะลุ 5.00% ในกลางปีหน้า หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดในช่วงที่ผ่านมายังคงไม่สามารถสกัดความร้อนแรงของตลาดแรงงาน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้าเพื่อทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่กรอบ 5-5.25% ในเดือนพ.ค.2566 หลังจากก่อนหน้านี้คาดการณ์ที่ระดับ 4.75-5%

อย่างไรก็ดี ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2% ในปีหน้า หากสหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ นายเอริค โรเบิร์ตสัน หัวหน้านักวิจัยระดับโลกของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานชื่อ “เรื่องเซอร์ไพรส์ของตลาดการเงินในปี 2566” หรือ “The financial-market surprises of 2023” โดยได้ระบุถึงเหตุการณ์หลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งตลาดได้มองข้ามไป

หนึ่งในเหตุการณ์ในรายงานดังกล่าวคือ หากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เฟดอาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 2.00%

รายงานระบุว่า เฟดได้ประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อต่ำเกินไปในปี 2565 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามที่เฟดระบุก่อนหน้านี้ ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ทำให้เฟดมีความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอยในปี 2566 ขณะที่เฟดประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจต่ำเกินไปจากการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน

“แถลงการณ์ของ FOMC มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นความจำเป็นในการขยายเวลาคุมเข้มนโยบายการเงิน ไปสู่ความจำเป็นในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการทรุดตัวลงอย่างรุนแรง” นายโรเบิร์ตสันระบุในรายงาน

ด้านนายคริส ซาร์คาเรลลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนของบริษัท Independent Advisor Alliance กล่าวว่า ปรากฎการณ์ “ซานต้า แรลลี่” ในปีนี้จะขึ้นอยู่กับตัวเลขดัชนี CPI ในวันนี้

“เฟดมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ แต่แนวโน้มการเกิด ‘ซานต้า แรลลี่’ จะขึ้นอยู่กับว่าตัวเลข CPI จะออกมาต่ำกว่าคาดหรือไม่” นายซาร์คาเรลลีกล่าว

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ “ซานต้า แรลลี่” มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

จากการรวบรวมสถิติการปรับตัวของตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วง 7 วันของซานต้า แรลลี่ พบว่า ดัชนีดาวโจนส์สามารถปิดตลาดในแดนบวกถึง 78% นับตั้งแต่ปี 2471

ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยว่า สถิติในอดีตบ่งชี้ว่า เดือนธ.ค.เป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นร้อนแรงมากที่สุดของปี

ข้อมูลระบุว่า ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นเฉลี่ย 2.3% ในเดือนธ.ค.นับตั้งแต่ปี 2479 และดัชนีปรับตัวเป็นบวกในเดือนธ.ค.คิดเป็นสัดส่วน 79% นับตั้งแต่ปีดังกล่าว

Back to top button