G-ABLE ยื่นไฟลิ่งขาย “ไอพีโอ” 175 ล้านหุ้น เทรด SET ต่อยอดธุรกิจ Tech Enabler
G-ABLE ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 175 ล้านหุ้น พร้อมจดทะเบียนใน SET เตรียมต่อยอดธุรกิจTech Enabler และ Digital Transformation แบบครบมิติ มีบล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ G-ABLE ผู้นำด้าน “Tech Enabler” ที่ช่วยยกระดับธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลในทุกมิติ ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 175 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จํากัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร G-ABLE กล่าวว่า จีเอเบิล เป็นผู้นำด้าน “Tech Enabler” ที่ช่วยยกระดับธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลในทุกมิติ การให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัล อย่างครบวงจร ด้วยประสบการณ์กว่า 33 ปี บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบูรณาการและนำเสนอโซลูชั่นที่สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรธุรกิจ ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ การดำเนินงานและสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ จีเอเบิลมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนลูกค้าในการทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และก้าวสู่ความสำเร็จขององค์กรตามเป้าหมาย
กลุ่มจีเอเบิลมีบริการหลัก 3 ด้านดังนี้
1) ธุรกิจให้บริการโซลูชั่นระดับองค์กร (Enterprise Solution and Services) ให้คำปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และจัดจำหน่าย ตลอดจนการบริการบำรุงรักษาและบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยสามารถแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ เป็น 5 กลุ่มโซลูชั่น ได้แก่ โซลูชั่นด้านระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ โซลูชั่นด้านระบบคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ โซลูชั่นด้านระบบจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ โซลูชั่นด้านธุรกิจดิจิทัล และโซลูชั่นด้านการบริหารจัดการระบบสารสนเทศ
2) กลุ่มธุรกิจโซลูชั่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added Distribution) ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านบริษัท เฟิร์ส ลอจิก จำกัด (First logic) ซึ่งเป็นตัวแทนหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชั้นนำต่างๆ จาก Oracle และ Veritas ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานในระดับองค์กรซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานทั่วโลกมาแล้วอย่างยาวนาน
3) กลุ่มธุรกิจบริการซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม (Software Platform) ซึ่งเกิดจากการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายในองค์กรมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่จนเกิดเป็นกลุ่มธุรกิจบริการซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม (Software Platform) โดยปัจจุบัน มีซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของและพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าจำนวน 3 แพลตฟอร์ม ดังนี้ 1.แพลตฟอร์มด้านการตลาดดิจิทัล (Marketing Technology) แบบครบวงจร 2.แพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูล Big Data 3.แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการพื้นที่เช่า
สำหรับบริษัทฯ ในฐานะหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลอย่างครบวงจร ในการสนับสนุนลูกค้าให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคตในยุคที่เทคโนโลยีมีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการที่บริษัทฯ มีบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าขนาดใหญ่ของประเทศและหลากหลายอุตสาหกรรม ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ
โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุน ได้แก่
1) รองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทฯ และการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดได้
2) ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินของกลุ่มบริษัทฯ
3) รองรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ
“จุดแข็งที่ทำให้จีเอเบิลในฐานะ Tech Enabler ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นแบบครบวงจรมานานกว่า 33 ปี นั่นคือประสบการณ์กับลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ทำให้มีความเข้าใจในภาคธุรกิจ มีความเชี่ยวชาญในการบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางด้านเทคโนโลยีขององค์กร รวมถึงความสามารถ ในการส่งมอบโซลูชั่นที่ใช้งานได้ง่ายและแก้ปัญหาได้จริง โดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในโลกของธุรกิจและเทคโนโลยี พร้อมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับลูกค้าและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรในหลากหลายภาคอุตสาหกรรมในยุคของ Digital Disruption” ดร.ชัยยุทธ กล่าว