โฆษกรัฐบาลแนะ “เอกชน” เตรียมรับมือมาตรการ CBAM เริ่มใช้ 1 ม.ค.66
“รัชดา ธนาดิเรก” รองโฆษกรัฐบาล แนะ “เอกชน” รับมือมาตรการสิ่งแวดล้อมอียู CBAM ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.66
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) เพื่อกระตุ้นให้ประเทศผู้ส่งออกเร่งผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อียูกำหนด จะเริ่มบังคับใช้ วันที่ 1 ม.ค. 2566 รัฐบาลได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว มีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เป็นผู้ให้บริการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งในระดับ ผลิตภัณฑ์ องค์กร บุคคล และกิจกรรม
ทั้งนี้ การบังคับใช้มาตราการ CBAM ในช่วง 3 ปีแรก (ปี 2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม โดยผู้นำเข้ามีหน้าที่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ประกอบการนำเข้าด้วย (ราคาใบรับรอง อ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู ราคาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 ประมาณ 85 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน)
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ข้อมูลที่ต้องรายงาน ประกอบด้วย ปริมาณสินค้าทั้งหมด ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมของสินค้าที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ของกลไก CBAM ทั้งนี้ ค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า (Embedded emissions) จะนำ Carbon Footprint มาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินด้วย ซึ่งประเทศไทย มีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ให้บริการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในระดับผลิตภัณฑ์ มี 3 ประเภท
ได้แก่ เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) หรือ CFP คือเครื่องหมายที่ระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังใช้งาน เพื่อสื่อสารให้ใผู้ซื้อได้รับทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจเรื่องโลกร้อน มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจาก TGO แล้วจำนวน 5,674 ผลิตภัณฑ์ จาก 708 บริษัท
รวมถึง เครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลากลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction) หรือ CFR หมายถึงผลิตภัณฑ์ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีการบริหารจัดการจนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจาก TGO แล้วจำนวน 818 ผลิตภัณฑ์ จาก 114 บริษัท และเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Carbon Footprint of Circular Economy Product) หรือ CE-CFP หมายถึง การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าผลิตภัณฑ์เดียวกันที่ผลิตจากวัสดุใหม่ (Virginmaterial) โดย TGO เริ่มให้การับรองเมื่อ ม.ค. 65 จำนวน 47 ผลิตภัณฑ์ จาก 15 บริษัท
นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันอียูยังไม่ได้ประกาศข้อสรุปรายละเอียดของมาตรการ CBAM และยังพอมีเวลาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านอยู่บ้าง แต่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยคาร์บอนตำ่ การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ รัฐบาล โดย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ประสานงานกันเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ดีและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมาย การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065