“ธปท.” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ เสี่ยง “เงินเฟ้อ” หลุดกรอบ แนะติดตามศก.-บาทอ่อน
“ธปท.” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย แนะติดตามค่าบาทอ่อน ตลาดเงินทั่วโลกผันผวน ขณะที่ปี 66 ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จะเห็นทิศทางชัดเจน
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และ นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2565 ว่า ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 66 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% ในปีนี้ ขยับขึ้นขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้าที่ 3.6% และขยายตัว 3.9% ในปี 67 การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย การส่งออกของไทยที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น และความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในตลาดเงินทั่วโลก เป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไป
ทั้งนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้เห็นส่งผ่านนโยบายจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ของธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่สะดุด
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในปีหน้า ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์จะปรับเพิ่มขึ้นอีกจากมาตรการลดค่านำส่งเงินสำรองของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ครบอายุการผ่อนคลาย รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่า จะมีการส่งผ่านต้นทุนการเงินไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยที่มากขึ้น
ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น และเตรียมส่งผ่านไปยังประชาชนที่เพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ กนง.ยังคงการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เข้ามากระทบในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม การกำหนดระยะเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ภาวะปกติ หรืออัตราดอกเบี้ยในระดับปกติควรอยู่ที่เท่าไร ไม่ได้กำหนดไว้ในขณะนี้ แต่จะขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อในขณะนั้นๆ เป็นหลัก
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จนถึงครึ่งปีหลังของปีหน้า เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่ ธปท.ประเมินจะขยายตัวทั้งปี 3% ในปีหน้า และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในครึ่งหลังของปีหน้า ถ้าเป็นไปตามนั้นเศรษฐกิจไม่สะดุด เงินเฟ้อเข้าตามกรอบได้ ก็สามารถลดแรงกดดันจากนโยบายการเงินลงได้” นายปิติกล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้นยังคงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการตึงตัวของตลาดการเงินโลก ซึ่งเริ่มเห็นปัญหาในตลาดพันธบัตรหลายๆ ประเทศ แม้กระทั่งอังกฤษ ซึ่งเดิมเป็นตลาดที่มีความมั่นคงสูง โดยจะกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น จากการประเมินของธปท.นักท่องเที่ยว 2 ใน 3 ของไทยในขณะนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ซึ่งปีหน้าเอเชียจะขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่าประเทศในกลุ่มตะวันตก
ดังนั้น จึงยังเแรงส่งที่ดีของการท่องเที่ยวไทย ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้น จากการประชุมของธนาคารกลางทั่วโลกมองตรงกันว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและค่อยๆ ลดลง แต่อย่างไรก็ตามอาจจะไม่ได้ลดลงเร็วมาก แต่จะค้างในระดับสูงอีกระยะ
โดยเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อไม่เข้ากรอบเป้าหมาย 3% ในปีหน้า ธปท.ได้ติดตาม 2 เรื่องคือ การส่งผ่านต้นทุนที่ยังค้างอยู่ของผู้ประกอบการไปที่ราคาสินค้า ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การส่งผ่านต้นทุนจะทำได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นตัวทำให้เงินเฟ้อไม่ลดลงเร็วและอีกเรื่องหนึ่งคือ การลดหรือสิ้นสุดของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพในระยะต่อไป เช่น มาตรการช่วยค่าไฟฟ้า ถ้ามาตรการไม่เป็นไปตามที่ธปท.คาดก็อาจจะส่งผลต่อการลดลงของเงินเฟ้อได้
นอกจากนี้ ธปท.ยังคงจับตาความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการอ่อนลงของค่าเงินบาท โดยพิจารณาผลกระทบของบริษัทไทยที่ีมีหนี้ต่างประเทศ โดยพบว่า มีบริษัทที่มีหนี้ระดับสูงหรือเกิน 50% เพียง 25% ของทั้งหมด ขณะที่มีบริษัทเพียง 14% ที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ผลกระทบต่อไทยจึงไม่ได้มากขนาดนั้น ขณะเดียวกัน ยังคงติดตามความผันผวน และปัญหาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เห็นปัญหาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรไทย