“เงินเยน” แข็งค่าสูงสุดรอบ 4 เดือน หลัง BOJ คุมเข้มนโยบายการเงิน
“เงินเยน” แข็งค่า สูงสุดรอบ 4 เดือน หลัง BOJ คุมเข้มนโยบายการเงิน และประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่เยนพุ่งกว่า 3% แตะระดับสูงสุดรอบ 4 เดือนเทียบดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในวันนี้
ณ เวลา 19:05 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.68% สู่ระดับ 104.01 ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่า 0.27% สู่ระดับ 1.063 เทียบยูโร และดิ่งลง 3.054% สู่ระดับ 132.75 เยน หลังทรุดตัวลงแตะ 132.68 เยน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนส.ค.
ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าญี่ปุ่นจะหันมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินตามรอยธนาคารกลางทั่วโลก หลัง BOJ ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
ทั้งนี้ แม้ BOJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% ในการประชุมนโยบายการเงินวันนี้ แต่ BOJ ได้ตัดสินใจขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25%
อย่างไรก็ดี นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เพื่อปรับปรุงกลไกตลาด
ด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานวานนี้โดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่า รัฐบาลเตรียมหารือกับ BOJ เพื่อปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หลังจากมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี
แหล่งข่าวระบุว่า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะหารือประเด็นดังกล่าวกับผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ในเดือนเม.ย.ปีหน้า หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งต่อจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำแถลงการณ์ร่วมกับ BOJ ในปี 2556 โดยระบุถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืดในขณะนั้น
สำหรับนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากญี่ปุ่นทำการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้เยนแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ถูกกดดันให้อ่อนค่าเป็นเวลานานจากการที่ญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ BOJ ต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ สวนกระแสธนาคารกลางทั่วโลกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ขณะที่นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE จะบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. จากระดับ 0.3% ในเดือนต.ค.
นอกจากนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ คาดว่าปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนต.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ