จับตาหุ้น “อสังหา” วิ่ง! รับ “ครม.” ไฟเขียวลดภาษีที่ดิน-ค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง
จับตาหุ้นอสังหาริมทรัพย์ SPALI-ORI-AP-LH-QH-BRI-PSH วิ่งแรง! ขานรับ “ครม.” ไฟเขียวลดภาษีที่ดิน ลดค่าธรรมเนียมโอน-จำนองที่พักอาศัย โบรกแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หนุนผลงานฟื้นตัวแข็งแกร่ง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแถลงข่าวกับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีมาตรการของขวัญภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน โดยมีรายละเอียดทั้งสิ้น 18 มาตรการหลัก หากนับเป็นโครงการย่อยจะมีทั้งสิ้น 30 โครงการ โดยโครงการหลัก 5 มาตรการแรกจะเกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม โดยกระทรวงการคลังมั่นใจว่า 5 มาตรการทางภาษีจะช่วยกระตุ้นสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 278,771 ล้านบาท ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ได้ถึง 0.76% แม้จะสูญเสียรายได้ภาษีถึง 18,690 ล้านบาท
สำหรับ 5 มาตรการแรก เริ่มจาก 1.มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” เริ่ม 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566 สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2566 แบ่งเป็น 1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ 2) ค่าซื้อสินค้าหรือบริการอีก 10,000 บาท ออกใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP แต่ไม่รวมสินค้าและบริการ 10 ประการ ได้แก่ สุรา เบียร์ ไวน์, ยาสูบ, รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ, ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร, ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารออนไลน์, ค่าบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์, ค่าที่พักโรงแรม, ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวที่เริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 2566 และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
กระทรวงการคลัง คาดว่ามาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 56,000 ล้านบาท GDP เพิ่มขึ้น 0.16% และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
2.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 โดยลดภาษีให้ในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณสำหรับการจัดเก็บปีภาษี 2566 3.ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่อยู่อาศัยปี 2566 ลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะราคาประเมินไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสัญญา
4.มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2566 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มีการฟื้นตัว
5.มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2566 เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง โดยสรุปประเด็นข้างต้นย่อมสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ประกอบกับผลประกอบการที่จะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง 2565 มากกว่าครึ่งปีแรก 2565 ขณะที่การปรับลงของราคาหุ้นในกลุ่มทำให้มูลค่า (Valuation) ไม่แพง และดิวิเดนด์ยีลด์จูงใจเกิน 5% ต่อปี ถือเป็นระดับมากพอที่ชนะเงินเฟ้อ จึงแนะนำเข้าลงทุนสะสม เลือกหุ้นเด่นที่มีพอร์ตกระจายตัว, แบ็กล็อกสูง, อัพไซด์สูง และดิวิเดนด์ยีลด์เกิน 5% ต่อปี คือ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP และบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI
ส่วนบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ระยะสั้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อย่าง AP, บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH, บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH, บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH, SPALI, ORI, บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI หลังมีข่าวว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ โดยภาคอสังหาฯ คิดเป็น GDP ประมาณ 8-9%