“ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ” ชี้ “คนไทย-ต่างชาติ” ซื้อคอนโดทะลัก 1.83 แสนล้าน
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยคนไทยและต่างชาติ เข้าซื้อคอนโด มียอดโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาทในช่วง 9 เดือนปี 65
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า จากการติดตามการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมดในช่วง 9 เดือนของปี 2565 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ จำนวน 69,391 หน่วย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ประมาณ 10.5%
ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 183,295 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 0.5% เท่านั้น จากข้อมูลนี้ได้แสดงว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในปี 2565 ที่ผ่านมา 3 ไตรมาสแล้วนั้น ตลาดห้องชุดในภาพรวมน่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว
โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ จำนวน 7,347 หน่วย มูลค่า 37,500 ล้านบาท ส่วนของคนไทยมีจำนวน 62,044 หน่วย มูลค่า 147,795 ล้านบาท โดยเมื่อดูเฉพาะชาวจีนในช่วง 9 เดือนแรก ยังคงมีการโอนกรรมสิทธิ์เป็นอันดับหนึ่ง มีจำนวน 3,695 คน คิดเป็น 50.3% และมีมูลค่า 18,587 ล้านบาท คิดเป็น 49.57% ของชาวต่างชาติที่โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่สนใจว่า สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของผู้ซื้อชาวจีนได้ปรับลดลงเหลือประมาณ 50% จากที่ในปีช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 60% คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจาการดำเนินนโยบายซีโร่โควิดในประเทศจีน ทำให้การเดินทางของชาวจีนมีข้อจำกัดในช่วงที่ผ่านมา
“แต่ได้พบกลุ่มผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ใน กลุ่มประเทศรัสเซีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เริ่มมีสัดส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน และเป็นที่น่าสนใจอย่างมากอีกเช่นกัน ที่ได้เห็นตัวเลขของหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่แม้ว่าจะมีจำนวนหน่วยและมูลค่าการซื้อไม่มากนัก แต่กลับมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ชาวเมียนมา, กัมพูชา, ลาว, ,เวียดนาม และชาวมาเลเซียที่มีการเข้ามาซื้อห้องชุดไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา” นายวิชัยกล่าว
สำหรับปรากฏการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นอานิสงส์ที่ได้รับจากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น จึงอาจคาดการณ์ได้ หากประเทศจีนเปิดประเทศในปี 2566 จะช่วยให้ตลาดอาคารชุดไทยสำหรับคนต่างชาติของไทยสามารถเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN กล่าวว่า แม้จะมีกรณีของตู้ห่าว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดคอนโดมิเนียม เพราะต่างชาติสามารถซื้อได้ 49% ของพื้นที่โครงการตามที่กฎหมายกำหนด โดยปีนี้อนันดามีรายได้ลูกค้าต่างชาติรวม 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของพอร์ตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ซึ่งลูกค้าหลักยังเป็นจีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, เมียนมา, และกัมพูชา ส่วนใหญ่ซื้อในทำเลย่านซีบีดี เช่น พระราม 9, สุขุมวิท, ห้วยขวาง
ขณะที่ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า แสนสิริยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีตู้ห่าว เพราะไม่ได้ขายให้จีนในสัดส่วนที่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าคนไทยและเป็นเรียลดีมานด์ ในปีนี้มียอดขายต่างชาติทั้งบ้านและคอนโดฯอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 แต่ยังน้อยกว่าก่อนโควิดที่ทำได้ 13,000-14,000 ล้านบาท
“ต่างชาติมาซื้อยังคงเป็นจีน ฮ่องกง ไต้หวัน จีนจากแผ่นดินใหญ่ และซื้อคอนโดมากกว่าบ้าน ระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ยูนิตละ 5 ล้านบาท ส่วนบ้านตั้งแต่หลังละ 8-70 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตลาดคนจีนเริ่มแผ่วตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ประเทศและมาตรการซีโร่โควิด มีบ้างบางรายที่หายเงียบไป ทิ้งเงินดาวน์ 30% คาดหวังปีหน้าลูกค้าจีนจะกลับมาเพิ่มขึ้น หลังเปิดประเทศแล้ว” นายอุทัย กล่าว