ฉลุย! สภาฯ ตัดมาตรา 3 ร่าง “พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง” ไม่ถือเป็นยาเสพติด

สภาผู้แทนราษฎร มีมติตัดมาตรา 3 ร่าง พ.ร.บ. "กัญชา-กัญชง" ไม่ถือเป็นยาเสพติด ลุ้นพิจารณากฎหมายทั้งฉบับภาพอาจล่าช้า เหตุผู้อภิปรายเยอะ ติดปัญหาองค์ประชุม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา และเปิดลงมติในมาตรา 3 ที่ระบุว่า กัญชา ไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการฯ ที่ให้ตัดมาตรา 3 ทิ้งทั้งมาตรา ด้วยคะแนน 119 คะแนน งดออกเสียง 31 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง

จากนั้นที่ประชุม ได้พิจารณาต่อในมาตรา 4 “คำนิยาม” โดยมีการอภิปรายกันอย่างหลากหลาย อย่าง นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การนำกัญชากับกัญชงมาพิจารณารวมกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม แต่ควรกำหนดเรื่องปริมาณสาร THC ให้ชัดเจนไปเลยจะดีกว่า เพื่อป้องกันการพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ปริมาณสาร THC สูงขึ้นในอนาคต

ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้เสรีกัญชาแบบสุดโต่ง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น เพราะประชาชนสามารถหาซื้อกลับไปสูบที่บ้านได้ หากในอนาคตจะมีการเปิดกัญชาเสรีก็ควรมีระยะเวลาที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีระบบที่สามารถควบคุมการใช้งานผิดประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การกำหนดเรื่องการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนเปิดช่องให้มีการนำกัญชาไปใช้เพื่อนันทนาการ  ทำให้มีการบริโภคเสรีได้เองโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์  เป็นการเขียนกฎหมายที่มีความกำกวมและซ่อนเร้น  ซึ่งจะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล  เพราะปัจจุบันประชาชนสามารถขอรับยาที่ผลิตจากกัญชาได้อยู่แล้ว ตนคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่วัตถุประสงค์อื่น

ทำให้นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก กมธ.ฯ ชี้แจงว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีประชาชน 84% ใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่เป็นการใช้งานแบบใต้ดินหรือนอกระบบ และเป็นการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อรักษาโรคอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งมีประชาชน 93% ได้รับผลดีจากการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์

สำหรับภาพรวมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ถือว่ายังมีความล่าช้า เนื่องจากมีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติ และขออภิปรายจำนวนมาก รวมถึงองค์ประชุมที่อาจไม่ครบ หากการพิจารณาลากยาวออกไป

Back to top button