ลับลวงพลาง! STARK แจงแผน “ซื้อหุ้นคืน” ยันไม่ใช้ “เงินเพิ่มทุน” อุบทำไรต่อ
ลับลวงพลาง! STARK แจงแผน "ซื้อหุ้นคืน" ยันไม่ใช้ "เงินเพิ่มทุน" อุบทำไรต่อ บอกแค่ว่ายังคงมีนโยบายที่จะใช้เงินจำนวนดังกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น
นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้แจ้งข่าวเรื่องมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ในเรื่องเกี่ยวกับโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) นั้น
บริษัทขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) นั้นจะดำเนินการจากสภาพคล่องส่วนเกินจากการประกอบกิจการของบริษัทเมื่อบริษัทมีกำไรสะสมเพียงพอและในจำนวนที่ไม่เกินกว่ากำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรของบริษัทในงบเฉพาะกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของบริษัท และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืน ซึ่งรวมถึงวงเงินสูงสุดที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืน จำนวนและสัดส่วนหุ้นที่ซื้อคืน วิธีการและกำหนดเวลาซื้อหุ้นคืน และเกณฑ์กำหนดราคา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) เพื่อพิจารณาต่อไป
อนึ่ง เนื่องจากบริษัทได้ใช้สิทธิตามกฎหมายและข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิกถอนสัญญาซื้อขายหุ้นตาม อ้างถึง อันส่งผลให้บริษัทมิได้ใช้เงินเพิ่มทุนที่บริษัทได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) เพื่อการเข้าทาธุรกรรมดังกล่าวอีกต่อไปนั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทขอเรียนชี้แจงว่าบริษัทยังคงมีนโยบายที่จะใช้เงินจำนวนดังกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัท อันรวมถึงการขยายกิจการและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการประกอบกิจการของบริษัท โดยคณะกรรมการจะนำเสนอแนวทางการใช้เงินจำนวนดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การใช้เงินและแผนการใช้เงินเพิ่มทุนใหม่ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ นายชนินทร์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2565 วันที่ 21 ธ.ค. 2565 มีมติอนุมัติให้ฝ่ายบริหารดำเนินการกำหนดรายละเอียดโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) เมื่อบริษัทมีกำไรสะสมและสภาพคล่องส่วนเกิน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัท ประกอบด้วย กระแสเงินสดจากการประกอบกิจการบริษัทและเงินเพิ่มทุนที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การใช้เงินและบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากำหนดวัตถุประสงค์และแผนการใช้เงินเพิ่มทุนใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น
ดังนั้น เมื่อรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วน บริษัทจะนำข้อมูลและผลการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายชนินทร์ ระบุก่อนหน้านี้ว่า แม้ไม่ได้เข้าซื้อกิจการ LEONI แต่บริษัทยังวางแผนดำเนินงานปี 2566 โดยคงเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 20% เป็นการเติบโตมาจากทั้งโรงงานในไทยและเวียดนาม ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิล ที่ตลาดยังเติบโตทั้งจากการขยายตัวของความต้องการไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศและการขยายตัวของ Renewable Energy (RE)
แหล่งข่าววงการเงิน เปิดเผยว่า การแจ้งตลาดของ STARK ถือว่าสร้างความสับสนให้กับผู้ถือหุ้นว่าสุดท้ายแล้วบริษัทจะมีหนทางใช้เงินเพิ่มทุนอย่างไรกันแน่ และมีความเป็นไปได้สูงว่า STARK จะเสนอบอร์ดเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาท จากเดิมเพื่อนำไปซื้อหุ้น “ลีโอนี เคเบิล” มาเป็นนำไปซื้อหุ้นคืนแทน เนื่องจากดูจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของ STARK ล่าสุด (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2565) มีอยู่เพียงแค่ 453 ล้านบาทเท่านั้น จึงไม่เพียงพอหากจะมีการซื้อหุ้นคืนดังกล่าว
จากกรณีดังกล่าวทำให้นักลงทุนสถาบัน 12 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มทุนอาจประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากวัตถุประสงค์เดิมคือการเข้าไปซื้อ “ลีโอนี เคเบิล” ที่จะได้ผลตอบแทนจากดีลดังกล่าวประมาณ 18% และผลจากการล้มดีลดังกล่าวทำให้ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับสิ้นสุดลงไป ที่สำคัญราคาเพิ่มทุน 3.72 บาท ถือว่าสูงกว่าราคา STARK บนกระดาน ที่ล่าสุด (21 ธ.ค.) ปิดที่ระดับ 2.34 บาท เพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ STARK มีการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ราคาหุ้นละ 3.72 บาท มูลค่า 5,580 ล้านบาท ให้กับนักลงทุนสถาบัน 12 ราย ประกอบด้วย 1)The Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited กองทุน (น่าจะเป็นไพรเวทฟันด์) จากฮ่องกงได้รับการจัดสรรจำนวน 353 ล้านหุ้น มูลค่า 1,313.16 ล้านบาท 2)บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ได้รับการจัดสรร 320 ล้านหุ้น มูลค่า 1,190.40 ล้านบาท 3)บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ได้รับการจัดสรร 268.81 ล้านหุ้น มูลค่า 999.99 ล้านบาท 4)บริษัท เอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้รับการจัดสรร 182 ล้านหุ้น มูลค่า 677.04 ล้านบาท
5)Credit Suisse (Singapore) Limited กองทุนไพรเวทฟันด์สัญชาติสิงคโปร์ได้รับการจัดสรร 74.39 ล้านหุ้น มูลค่า 276.77 ล้านบาท 6)กองทุนไพรเวทฟันด์สัญชาติสิงคโปร์อย่าง UOB Kay Hian Private Limited ที่ได้รับการจัดสรร 58.50 ล้านหุ้น มูลค่า 217.62 ล้านบาท 7) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรร 53.76 ล้านหุ้น มูลค่า 199.99 ล้านบาท
8) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนวรรณ จำกัด ได้รับการจัดสรร 47.02 ล้านหุ้น มูลค่า 174.95 ล้านบาท 9) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการจัดสรร 32.49 ล้านหุ้น มูลค่า 120.86 ล้านบาท 10) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรร 29 ล้านหุ้น มูลค่า 107.88 ล้านบาท 11) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ของ “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” ได้รับการจัดสรร 51 ล้านหุ้น มูลค่า 189.72 ล้านบาท 12) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรร 30 ล้านหุ้น มูลค่า 111.60 ล้านบาท