“ภาษี (ค่าต๋ง) หุ้น” รัฐไอเดียบรรเจิด-นักลงทุนเจ๊ง
ภาษี (ค่าต๋ง) ขายหุ้น! ประเด็นร้อนวงการตลาดทุน รัฐหวังสร้างรายได้เข้าคลังเพิ่มปีกว่าหมื่นล้าน นักลงทุนช้ำต้นทุนเพิ่ม คาดเริ่มบังคับใช้ไตรมาส 2/65
“ภาษีขายหุ้น” หรือ Financial Transaction Tax (FTT) ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงและกระแสต่อต้านจากคนในแวดวงตลาดทุนขณะนี้ เริ่มต้นมาจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาประกาศว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำหนดอัตราเพดานจัดเก็บที่ 0.10% ของทุกๆ การขาย ตั้งแต่บาทแรกไม่ว่าจะขายทำกำไร หรือขายแล้วขาดทุนก็ตาม เพราะถือเป็นรายการภาษีจากการทำรายการ ซึ่งโบรกเกอร์จะต้องนำส่งภาษีการขายดังกล่าวมาให้กรมสรรพากรในทุกเดือน สำหรับกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศใช้เพื่อให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง คาดว่าจะเริ่มใช้ในไตรมาส 2/2566 และคาดจะสามารถจัดเก็บรายได้ในปีแรกไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ภายหลังกฎหมายบังคับใช้ จะแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.055% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เช่น ขายหุ้น 1,000 บาท เสียภาษี 0.55 บาท, ขาย 10,000 บาท เสีย 5.50 บาท
ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.11% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เช่น ขายหุ้น 1,000 บาท เสียภาษี 1.1 บาท, ขาย 10,000 เสีย 11 บาท
โดยภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้นทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อก ไม่ว่าจะเป็น วอลุ่มเทรดลดลง นักลงทุนนัดหยุดเทรด 1 วัน เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.65 เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO), สมาคมนักวิเคราะห์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนักลงทุนรายใหญ่ ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นมีการจัดสัมมนา FETCO Capital Market Outlook เสวนาพิเศษ “ภาษีขายหุ้น…คุ้มหรือไม่”
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ออกมาระบุว่า ไม่ควรเก็บภาษีหุ้น เนื่องจากไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกลุ่ม แต่ยังส่งผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้เกิดผลเสียตามมามากมาย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า มาตรการเก็บภาษีขายหุ้นของภาครัฐที่จะออกมาคง “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะมาตรการดังกล่าวอาจกระทบต่อปริมาณสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดน้อยลง โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ซึ่งถ้าหากมีการเก็บภาษีขายหุ้นจริงจะทำให้วอลุ่มเทรดต่างชาติหายไปประมาณ 80-90% โดยปัจจุบันรัฐบาลมีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินปันผลอยู่เกือบ 3 แสนล้านบาทอยู่แล้ว แต่ต้องมาแลกกับการเก็บภาษีขายหุ้นที่ประเมินไว้เพียงแค่ 16,000 ล้านบาท ถือว่าไม่คุ้มค่ากับโครงสร้างที่จะเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการนำเรื่องเก็บภาษีขายหุ้นไปเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วนั้นไม่ได้ เนื่องจากยังต้องพึ่งพาผู้ลงทุนต่างชาติ
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแนวเน้นคุณค่า (VI) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวไม่คุ้มค่า เพราะมีความเสี่ยงอย่างมาก ซึ่งออกมาแค่นี้ตลาดหุ้นไทยก็เสียแล้ว เนื่องจากหลายคนมองว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งหากปล่อยไปเป็นแบบนี้ ผู้ลงทุนอาจไม่อยากลงทุนและหันไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศแทน
นายวัชระ แก้วสว่าง หรือ “เสี่ยป๋อง” นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า การเก็บภาษีขายหุ้นนั้นได้รับผลกระทบแน่ เพราะยอดเทรดต่อปีค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างหากปีนึงขายหุ้นราว 7 หมื่นล้านบาท ต้องเสียภาษีถึง 70 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยกลุ่มนักลงทุนสายเก็งกำไร, สายเดย์เทรด และกลุ่มที่ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรด (High FrequencyTrading) จะได้รับผลกระทบมากสุด
ทั้งนี้ เรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย ทางข้อดีก็มีเช่นกัน คือ จะลดความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรไปได้มาก รวมถึงจะทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตเป็นระยะยาวมากขึ้น ใช้สติและความรอบคอบมากขึ้น และอาจจะส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยในระยะยาว
นอกจากนี้กรมสรรพากรเคยให้ข้อมูลว่า การเก็บภาษีหุ้นไม่ได้หวังเรื่องรายได้อย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีด้วย เพราะธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเหมือนกัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทประกัน ต่างก็เสียภาษีทั้งนั้นไม่ได้รับการยกเว้น
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มที่ได้การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่
1.ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
2.สำนักงานประกันสังคม
3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
6.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
7.กองทุนการออมแห่งชาติ
8.กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3 – 7 เท่านั้น
อนึ่งการเก็บภาษีขายหุ้นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากประเด็นนี้เป็นเพราะเป็นเรื่องที่ถกกันมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยทำได้เพราะมีข้อกังวลจากผู้เกี่ยวข้องกับวงการตลาดทุน จะทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจ และจะผลักให้คนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ท้ายที่สุดจึงได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 หรือได้รับการยกเว้นมานานกว่า 31 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น