“รฟท.” ดีเดย์รถไฟทางไกลเหนือ-ใต้-อีสาน ประเดิม “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” 19 ม.ค.66

"รฟท." เตรียมเปิดให้บริการ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" เป็นสถานีต้นสายรถไฟทางไกลเหนือ-ใต้-อีสาน 52 ขบวน ประเดิมเที่ยวแรก 19 ม.ค.66


นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ กำหนดเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ในเวลา 13.19 น. เป็นขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA เพื่อการท่องเที่ยว ต้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ปลายทางสถานีอยุธยา

โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจสามารถซื้อตั๋วโดยสารนำเที่ยวโปรแกรมพิเศษนี้ ส่วนขบวนรถโดยสารเที่ยวแรกที่จะออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์คือขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพ – สุไหงโกลก โดยการรถไฟฯ ได้เตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในทุกๆ ด้าน

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้เริ่มจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า 30 วัน ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารและเดินทางตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขอให้จะปรากฏสถานีต้นทางหรือปลายทางของขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (กภ.) บนตั๋วโดยสาร

ทั้งนี้ ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง จะยังคงใช้สถานีต้นทาง/ปลายทาง ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เช่นเดิม นับจากวันที่ 19 มกราคม 2566 ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีดอนเมือง (เฉพาะที่สถานีดอนเมือง จะเป็นสถานียกระดับ) จะไม่มีขบวนรถโดยสารวิ่งระดับพื้นดิน ซึ่งมีทางจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ 8 แห่ง บนถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน และจะไม่มีขบวนรถไฟโดยสารเดินบนเส้นทางรถไฟเดิมระดับดิน และจะยกเลิกการใช้ป้ายหยุดรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 และขบวนรถในเส้นทางสายใต้ก็จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีบางบำหรุ

ทั้งนี้ยกเว้นขบวนรถธรรมดา และชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม ทั้งหมดนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณจุดตัดได้เป็นอย่างดี ขบวนรถไฟสามารถเดินตรงตามเวลาได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องผ่านจุดตัดทางรถไฟกับรถยนต์ ทั้งนี้ ขบวนรถที่ต้องเข้าสถานีกรุงเทพที่มี 100 กว่าขบวนต่อวันก็จะลดลง ลดปัญหาการจราจรในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ อย่างเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง

สำหรับขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ที่จะเปลี่ยนสถานีต้นทาง ปลายทาง มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ จำนวน 14 ขบวน สายใต้ 20 ขบวน และสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน

กลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามเดิม ตั้งแต่ กรุงเทพ สามเสน ชุมทางบางซื่อ และจะขึ้นทางยกระดับเดินรถร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ยกเว้นขบวนรถธรรมดา และชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์ การรถไฟฯ จึงให้สิทธิ์ผู้โดยสารสามารถใช้ตั๋วโดยสารขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถนำตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพื่อเชื่อมต่อที่สถานีดอนเมือง (ยกระดับ) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุอยู่บนตั๋วโดยสาร รถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว (รถไฟทางไกล)

สำหรับผู้โดยสารที่เคยขึ้น-ลงสถานีรถไฟทางไกล (ระดับพื้นดิน) ที่มีการยกเลิกให้บริการรับ-ส่ง การรถไฟฯ มีมาตรการอำนวยความสะดวก โดยผู้โดยสารในขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มรถชานเมือง สำหรับผู้ใช้บริการขบวนรถชานเมือง สามารถใช้ตั๋วเดือนเข้าใช้รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม การให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ได้ดำเนินการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี เช่น ป้ายบอกทาง ที่พักคอยผู้โดยสาร รถเข็นสัมภาระ ลานจอดรถ เพื่อรองรับการใช้บริการที่สะดวกสบาย ปลอดภัย คลอบคลุมสำหรับผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย โดยทางเข้าของผู้โดยสารจะอยู่ที่ประตู 4 และจะมีช่องจำหน่ายตั๋วให้บริการทั้งหมด 10 ช่อง ผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสารสามารถรอการโดยสารภายในโถงด้านล่างสถานี เพื่อรอขึ้นขบวนรถบนชานชาลาก่อนขบวนรถออก 20 นาที

โดยสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออกจะอยู่ที่ชานชาลา 1 – 2 และขาเข้าจะอยู่ที่ชานชาลา 5 – 6 ส่วนสายใต้ขาออก จะอยู่ที่ชานชาลา 7 – 8 และขาเข้าอยู่ที่ชานชาลา 11 – 12 ส่วนการ เดินทางภายในสถานีเพื่อเชื่อมต่อระบบสาธารณะนั้น จะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อโดยสาร และใกล้จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ม่วง ชมพู อีกทั้งยังอยู่ใกล้สถานีขนส่งผู้โดสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) มีรถโดยสารประจำทาง 3 สาย ให้บริการ ได้แก่ สาย 3 สาย 49 และ สาย 67

นอกจากนี้ รฟท.ได้ปรับแผนเดินรถไฟขนส่งสินค้าให้เดินเข้าเขตกรุงเทพฯ ชั้นในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งช่วยลดจำนวนรถไฟที่จะผ่านจุดตัดถนน ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อการลดการจราจรแออัดในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ลดความสูญเสียต่อประชาชนด้วย

Back to top button