ย้อนรอย MORE พิฆาต! ระส่ำวงการ “โบรกเกอร์” – ตลาดหุ้นปั่นป่วน
มหากาพย์หุ้น MORE ปี 65 เขย่าวงการตลาดหุ้นไทยปั่นป่วน ฉ้อโกงวงการ “โบรกเกอร์” ลามทุ่งพิจารณาวงเงิน (มาร์จิ้น) ที่ให้กับลูกค้า และการพิจารณาหลักประกันที่นำมาวาง ทำให้ปปง. ต้องเข้ามาตรวจสอบ
ช่วงปี 2565 ที่ผ่านมามีเรื่องมหากาพย์เขย่าตลาดหุ้นไทย และวงการโบรกเกอร์ได้รับความเสียหายไปไม่น้อย สำหรับกรณีของหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ซึ่งมีความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นในวันที่ 10 พ.ย. 2565 โดยเปิดตลาดราคาหุ้นกระโดดสู่ระดับ 2.90 บาท ขึ้นไป 4.3% ด้วยจำนวนหุ้นซื้อขายปริศนามากถึง 1,500 ล้านหุ้น ซึ่งคิดมูลค่าซื้อขายประมาณ 4,500 ล้านบาท
ต่อมาราคาหุ้นกลับปรับตัวลงจนราคาต่ำสุด (Floor) ปิดที่ระดับ 1.95 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งวันสูงถึง 7,142 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด SET และ mai อีกด้วย และเมื่อหากย้อนหลังกลับไปดูช่วงก่อนหน้า 1-2 เดือนพอว่ามูลค่าการซื้อขายเทรดเบาบางมากเพียงหลักปริมาณสิบล้าน ถึงร้อยล้านเท่านั้น แต่น้อยมากที่จะเกินหลักพันล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นบนกระดานของ MORE ที่ผิดปกติ ณ เปิดตลาดเช้าของวันที่ 10 พ.ย. 65 ช่วง ATO พบว่ามีคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อเพียงรายเดียว ผ่านบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งที่ราคา 2.90 บาท ขณะที่ทางฝั่งผู้ขายมีคำสั่งขายจำนวนมากจากผู้ขายที่หลายระดับราคาใกล้เคียงกับราคาเสนอซื้อ โดยคำสั่งขายที่มีจำนวนมากที่สุดจำนวน 700 ล้านหุ้นต่อราย รองลงมาคือคำสั่งขายจำนวน 600 ล้านหุ้นต่อราย โดยการจับคู่กับผู้ซื้อรายเดียว จนทำให้หลังจากเปิดตลาดสูงสุดของวัน และเมื่อผ่านไป 20 นาที ราคาหุ้นทยอยปรับตัวลงจนฟลอร์ที่ราคา 1.95 บาท และปิดตลาดที่ราคาดังกล่าว
โดยผลกระทบดังกล่าวคงส่งมาถึงวันซื้อขายต่อในวันที่ 11 พ.ย. 65 ราคาหุ้น MORE เปิดตลาดดิ่งฟลอร์ 2 ทันทีลงไปอยู่ที่ระดับ 1.37 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 134 ล้านบาท ลดลงจาก 7,142 ล้านบาทวันก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ 14 พ.ย. 65 จะต้องมีการชำระเงิน (เคลียร์ริ่ง) ที่จะครบดีล T+2 ของธุรกรรมที่ได้มีการซื้อขายแม้ว่าสำนักหักบัญชีจะได้รับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์จากบริษัทสมาชิกทุกรายที่มีภาระผูกพันตามธุรกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ย. นั้น แต่ในส่วนของบริษัทสมาชิกบางรายได้พบการผิดนัดชำระหนี้ในจำนวนที่มีนัยสำคัญจากผู้ซื้อหลักทรัพย์ และด้วยเหตุผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น
ผลดังกล่าวส่งผลให้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ผิดปกติ ประกาศขึ้นเครื่องหมาย SP หยุดพักการซื้อขาย MORE ชั่วคราว ระหว่างวันที่ 15-18 พ.ย. 65 เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีธุรกรรมผิดปกติของวันที่ 10 พ.ย. 65 โดยมีหลายฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ
ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยว่า ตลท.ได้พบว่าหลักทรัพย์ MORE มีการซื้อขายที่ผิดปกติไปจากช่วงก่อนหน้า และได้ติดตามให้ MORE ชี้แจงข้อมูล รวมทั้งได้แจ้งเตือนให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา จึงขอให้บริษัทสมาชิกเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลการซื้อขายในหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้น
อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือร่วมกับบริษัทสมาชิก, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ MORE ที่อาจเข้าข่ายเป็นรายการที่ผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทสมาชิกบางรายในระดับที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัทสมาชิกและปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นผ่านบริษัทสมาชิกรายนั้น โดยปัจจุบันบริษัทสมาชิกทุกรายยังสามารถให้บริการกับผู้ลงทุนได้ตามปกติ
ส่วนทางด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำธุรกรรมหุ้น MORE ในทุกขั้นตอน ว่ามีการทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือมีลักษณะการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายไม่เป็นธรรม ซึ่งหากพบ จะมีขั้นตอนการดำเนินงานไว้อยู่แล้ว
กระทั่งรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.2565) มีการประชุมของ “คณะกรรมการกำกับตลาดทุน” หรือ ก.ต.ท. และมีมติให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด ระงับการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว
โดย ก.ล.ต. ระบุว่าทาง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และ ก.ล.ต.ตรวจพบว่าบริษัทมีการนำเงินของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของบริษัทไปชำระเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชี โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 157.99 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัท
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุเพิ่มเติมว่า กรณีการนำเงินของลูกค้าดังกล่าวไปชำระเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชีนั้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE และด้านแหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโบรกฯ กรณีหุ้นมอร์ฯ นั้นมีอยู่จำนวน 2 แห่ง แห่งแรกคือตามที่เป็นข่าว (บล.เอเชีย เวลท์) และอีกแห่งมีอักษรย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “A” เช่นกัน
นอกจากนี้ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้หารือกับโบรกเกอร์ ตรวจสอบธุรกรรม รวบรวมข้อมูลของโบรกเกอร์ต่างๆ และแยกย้ายกันไปตรวจสอบลูกค้าของตัวเอง แล้วนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ พบว่ามีความผิดก็จะต้องดำเนินคดี และกำชับว่าให้แต่ละโบรกเกอร์ออกมาให้ข้อมูลกับนักลงทุน ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากหุ้น MORE อย่างแน่นอน รวมถึงฐานะการเงินแข็งแกร่ง
เนื่องจากมีรายงานว่าโบรกเกอร์ฝั่งที่มีรายการซื้อสุทธิในหุ้น MORE ประกอบด้วย บล.กรุงศรี จำนวน 927 ล้านบาท, บล.เกียรตินาคินภัทร 765 ล้านบาท, บล.ทรีนีตี้ 475 ล้านบาท, บล.คิงส์ฟอร์ด 430 ล้านบาท, บล.เอ็กซ์สปริง 343 ล้านบาท, บล.ดาโอ (ประเทศไทย) 315 ล้านบาท, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) 169 ล้านบาท, บล.เอเชีย เวลท์ 163 ล้านบาท, และบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำนวน 86 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทำให้ตัวแทน 12 โบรกเกอร์ เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. เพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวกับการซื้อ-ขาย หุ้น MORE จนทำให้ราคาร่วงลงมาอย่างหนักติดต่อกัน 2 วันติด
โดยในช่วงที่ผ่านมาแหล่งข่าวใน ป.ป.ง. ระบุว่า บริษัทหลักทรัพย์ และ ป.ป.ง. ได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อ-ขายที่ตรงกับนายอภิมุข บำรุงวงศ์ ซึ่งได้ทำคำสั่งซื้อมากที่สุดในวันนั้น พร้อมกับดูพฤติกรรมการลงทุนย้อนหลังกับบุคคลที่เกี่ยว โดยเบื้องต้นพฤติกรรมการก่อเหตุในเรื่องนี้ยังไม่เข้าข่ายการฟอกเงิน จึงเป็นที่มาที่มีการไปแจ้งความกับ ปอศ.
ขณะที่ปปง. สั่งอายัดทรัพย์สินนักธุรกิจชื่อดังของเมืองไทยเข้าข่ายฉ้อโกงหุ้น MORE จำนวน 36 รายการ มูลค่าประมาณ 5,395 ล้านบาท ตามประมวลกฏหมายอาญา
ทั้งนี้พบว่าในวันเกิดเหตุมี “นายอภิมุข บำรุงวงศ์” และบุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งคำสั่งซื้อหุ้น MORE เป็นจำนวนมากก่อนที่ตลาดฯ จะเปิดทำการ โดยเป็นการส่งคำสั่งซื้อหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ประมาณ 11 แห่ง โดยพบวอลุ่มสูงผิดปกติจำนวน 1,500 ล้านหุ้น ในช่วงเปิดตลาด (ATO) ที่ราคาหุ้นละ 2.90 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4,400 ล้านบาท
จากปัญหา MORE เอฟเฟกต์แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กล่าวยอมรับว่า ปัญหาของหุ้นมอร์ รีเทิร์น ทำให้บล.ต่าง ๆ มองเห็นรอยรั่วบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของแนวทางในการพิจารณาวงเงิน (มาร์จิ้น) ที่ให้กับลูกค้า และการพิจารณาหลักประกันที่นำมาวาง
นอกจากนี้ การให้วงเงินกับหุ้นขนาดเล็กที่ถูกนำมาวางเป็นหลักประกันจะถูกปรับลดลง โดยอาจจะเหลือเพียง 30-40% ของมูลค่าหุ้น อย่างไรก็ตาม ผลที่จะตามมา คือ ความหวือหวาของหุ้นขนาดเล็กก็อาจจะหายไป เพราะโดยปกติแล้วหุ้นขนาดเล็กจะขับเคลื่อนด้วยการใช้มาร์จิ้น โดยการปล่อยวงเงินให้กับลูกค้าของแต่ละโบรกฯ คงจะเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาด้วยว่าหุ้นแต่ละตัวควรที่จะให้วงเงินคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของฟรีโฟลต และในอนาคตเราอาจจะเห็นแต่ละโบรกฯ ส่งข้อมูลไปที่หน่วยงานส่วนกลาง
นอกจากเรื่องของการพิจารณาวงเงินของลูกค้าแต่ละคนแล้ว แต่ละโบรกเกอร์อาจจะต้องพิจารณาถึงวงเงินที่ให้ลูกค้าทั้งหมด ว่าคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดต่อสภาพคล่องที่มีอยู่ทั้งหมด เพราะหากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้นมาเพียงครั้งเดียวก็อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นล้มละลายได้ หากประเมินความเสี่ยงไม่ดีพอ
ท้ายสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการปลดเครื่องหมายห้ามการซื้อขาย (SP) หลักทรัพย์ MORE วานนี้ (21 พ.ย. 2565) แล้ว ซึ่งจะทำให้หุ้น MORE กลับมาซื้อขายได้ตามปกติ หลังจากที่ถูกหยุดการซื้อขายมาจำนวน 5 วันทำการ (14-18 พ.ย. 2565) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาแล้วว่าการดำเนินการตลอด 5 วันที่ผ่านมาได้ทำอย่างครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปลด SP หุ้น MORE เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อระบบโดยรวมจึงเปิดให้มีการซื้อขายได้
ตลาดหลักทรัพย์ ปลดเครื่องหมาย SP หุ้นได้ปรับลงมาที่ระดับฟลอร์ (-30%) ทันที หรือราคาได้ปรับลงจากระดับ 1.37 บาท (ก่อนขึ้น SP) โดยวันที่ 21 พ.ย. ราคาปรับตัวลงต่อไปฟลอร์ 3 มาอยู่ที่ 0.96 บาท ส่วนวันนี้ (22 พ.ย.) ราคาปรับตัวลงฟลอร์ 4 อยู่ที่ 0.68 บาท และวันที่ 23 พ.ย. ราคาปรับตัวลงฟลอร์ 5 อยู่ที่ 0.48 บาท แต่หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบบริเวณ 0.36-0.40 บาท
สำหรับความวุ่นวายดังกล่าวทางก.ล.ต.เรียก 10 โบรกเกอร์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 65 เข้ามาร่วมพูดคุยกรณีหุ้น more อาจเป็นการทำที่อาจจะเข้าข่ายกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยการดำเนินดคดีกรณีนี้จะเป็นดำเนินการเอาผิดทางอาญา ซึ่งทาง ก.ล.ต.จะหาพยานหลักฐานให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะเป้าหมายหลักคือการสรุปคดีให้เร็วที่สุด
โดยทำงานร่วมกันกับทั้งทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เพื่อทำงานร่วมกัน เพื่อให้การตรวจสอบทำได้เร็วมากขึ้น ตาม 3 โจทย์ใหญ่ คือ 1.ตรวจสอบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ 2. เข้าตรวจสอบว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ และโบรกเกอร์ปฏิบัติหน้าที่ตามเกณฑ์หรือไม่ และ 3.ปรับเกณฑ์เรื่องคุณภาพของบจ. โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กๆ เช่น การรับหลักทรัพย์
ประเด็นหุ้น MORE นับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์การซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติในปี 2565 ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการตลาดหุ้นและวงการโบรกเกอร์ รวมถึงนักลงทุนไม่น้อย