เปิดสถิติผลงาน “ก.ล.ต.” ปี 65 เชือดแพ่ง 8 คดี 36 ราย “บิทคับ” หนักสุดปรับเฉียด 100 ล้าน
เปิดสถิติผลงาน “ก.ล.ต.” ปี 65 เชือดแพ่ง 8 คดี 33 ราย “บิทคับ ออนไลน์” สั่งปรับหนักสุดเฉียด 100 ล้าน ในความผิด “ปั่นหุ้น-อินไซด์เทรดดิ้ง” ฟากคดีอาญา “เปรียบเทียบ” จำนวน 197 ราย รวม 105 คดี ส่วนกล่าวโทษ 72 ราย รวม 25 คดี
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลสติการบังคับใช้กฎหมายซึ่งแบ่งเป็น 1.สถิติทางอาญา, 2.สถิติทางบริหาร/สถิติทางปกครอง และ 3. สถิติมาตรการลงโทษทางแพ่งในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้รวบรวมไว้ ณ วันที่ 31 พ.ย.65 และประกาศล่าสุดเพื่อให้เห็นการดำเนินการของก.ล.ต.กับผู้กระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ และช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยจากสถิติมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ได้รวบรวมมีจากจำนวน 8 คดี ผู้กระทำความผิด 36 ราย รวมค่าปรับทางแพ่ง ,ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเป็นเงินกว่า 90.06 ล้านบาท
สำหรับมาตรการลงโทษทางแพ่งดังกล่าวแบ่งเป็น 1.ความผิดการสร้างราคา(ปั่นหุ้น) 4 คดี จำนวน 2 ราย, 2.เป็นความผิดการใช้ข้อมูลภายใน/การเปิดเผยข้อมูลภายใน(อินไซด์เทรดดิ้ง) 6 คดี จำนวน 31 ราย และ3.เป็นความผิดยินยอมให้ใช้บัญชีหลักทรัพย์/บัญชีเงินฝากหรือใช้บัญชีหลักทรัพย์/บัญชีเงินฝาก จำนวน 1 คดี โดยจะพบว่าปีนี้มาตการลงโทษทางแพ่งในความผิด “อินไซด์เทรดดิ้ง” โดนค่าปรับมากสุด 37.73 ล้านบาท รองลงมาเป็นความผิดการปั่นหุ้นมีค่าปรับ 28 ล้านบาท
ส่วนผู้ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนด ก.ล.ต.ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง 1 คดี จำนวน 2 ราย ดังตารางประกอบ
สำหรับคดีอาญาสถิติการเปรียบเทียบและกล่าวโทษในปี 65 (อ้างอิงข้อมูลสิ้นสุดฯวันที่ 30 พ.ย.65) พบว่า มีสถิติความผิดและเปรียบเทียบปรับรวมทั้งหมด 105 คดี จำนวน 197 ราย โดยสูงกว่าปี 2564 มีสถิติความผิดและเปรียบเทียบปรับรวมทั้งหมด 58 คดี จำนวน 35 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นความผิดกรณีการเปิดเผยฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท รองลงมาการไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การประกอบธุรกิจ
ส่วนสถิติคดีกล่าวโทษปี 65 รวมทั้งหมด 25 คดี จำนวน 72 ราย โดยสูงกว่าปี 2564 มีสถติคดีกล่าวโทษรวมทั้งหมด 49 คดี จำนวน 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นความผิดกรณีการเปิดเผยฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท และรองลงมาการออกเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตดังตารางประกอบ
ทางด้านสถิติการดำเนินการทางบริหารประเภทของบคุลากร(กรรมการ,ผู้บริหาร /ผู้จัดการ,ผู้จัดการกองทุน,ผู้แนะนำลงทุน) หรือผู้ประกอบวิชาชิพ (ที่ปรึกษาการเงิน,นักวิเคราะห์,บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สิน )ในปี 65 มีสถิติรวมสั่งพักงาน 4 ราย และเพิกถอนใบอนุญาตแนะนำลงทุนรวม 9 ราย โดยลดลงจากงกว่าปี 2564 ที่มีสถิติรวมสั่งพักงาน 13 ราย และเพิกถอนใบอนุญาตแนะนำลงทุนรวม 4 ราย ดังตาราประกอบ
อย่างไรก็ตามทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของคดีแพ่ง 8 คดี รวมจำนวน 36 ราย โดยพบว่า บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด รวมผู้บริหาร ได้แก่ นายอนุรักษ์ เชื้อชัย,นายสกลกรย์ สระกวี โดนมาตรการลงโทษทางแพ่งต้องชำระค่าปรับรวมมากถึง 24 ล้านบาท
ขณะที่ล่าสุด(29 ธ.ค. 65) ก.ล.ต.เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย เพิ่มอีก กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 18 เหรียญ ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub (ศูนย์ซื้อขาย Bitkub) ของ บริษัท บิทคับ โดยเรียกให้ชำระเงินรวม 75.01 ล้านบาท นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 4 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 8 เดือน
ขณะที่บริษัทจดทะเบียน(บจ.) โดน ก.ล.ต.ปรับทางแพ่งสูงสุด ได้แก่ กรณีผู้บริหารบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ในความผิดอาศัยข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น หรือช่วยเหลือการกระทำความผิดมีบุคลจำนวน 9 ราย ได้แก่ นายไกรสร จันศิริ (ซึ่งขณะกระทำความผิด ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ TU), นายดิสพล จันศิริ, นายชาน ฮอน กิต (ซึ่งขณะกระทำความผิด ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือ TU), นายชาน ติน ซู, นางไฉ่ เหวียน จู, นายชวน ตั้งจันสิริ (ซึ่งขณะกระทำความผิด ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ TU), นางเฉิน อวี้ เจิน, นายชาน ฮอน ฮุง และ นางหุย ปุย หวา โดยมียอดชำระค่าปรับทางแพ่งรวมเกือบ 9 ล้านบาท
ทั้งนี้เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิดดังกล่าว เป็นรายได้แผ่นดินที่จะนำส่งกระทรวงการคลัง โดยมาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นทางเลือกในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ ที่ช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยกระบวนการที่เป็นธรรม
โดยมีคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ซึ่งมีอัยการสูงสุดเป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมในการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง แต่หากพบว่าผู้กระทำความผิดไม่ชำระเงินหรือชำระไม่ครบถ้วนตามที่ได้ยินยอมไว้ หรือไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก.ล.ต. สามารถร้องขอต่อศาลแพ่งเพื่อบังคับคดีได้ และยังสามารถกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาได้ในกรณีที่ไม่ยอมชำระเงินต่อไป