“ครม.” เคาะแผนแก้ฝุ่นละออง-เว้นค่าฟี “ประกันสังคม” นาน 2 ปี
“ครม.” ไฟเขียวแผนแก้ฝุ่นละอองปี 66 -เว้นค่าฟีขึ้นทะเบียน "ประกันสังคม" นาน 2 ปี ลดภาระนายจ้าง-ผู้ประกันตน พ่วงเห็นชอบแผนพัฒนาด้านการศึกษาอาเซียน -รัสเซียปี 65-69 เพื่อสร้างการเรียนรู้และเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก
วันนี้(3 ม.ค.65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 66 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ สาระสำคัญดังนี้
1.เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วัน ทุกพื้นที่ เช่น บูรณาการข้อมูลสำหรับการสื่อสารในช่วงวิกฤต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือ และโต้ตอบ Fake News อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ และเน้นการสื่อสาร ผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น Tiktok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน
2.ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวด ในการควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมกำลังพล บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต และบำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์รถที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงาน อุตสาหกรรมที่ใช้หม้อน้ำและโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
3.ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และระบบบริการการเผาในที่โล่ง) เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาหรือมีการเผาซ้ำซาก และส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อลดการเผา
4.กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติการเชิงรุก เพิ่มการลงพื้นที่ควบคุมและลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จัดให้มีแพลตฟอร์ม ศูนย์รวมข้อมูลหรือช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ 5.ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนา ระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ เพื่อเป็นข้อมูลคาดการณ์ การเคลื่อนที่หรือการลุกลามของไฟในการเข้าระงับเหตุ และสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่าของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับการถ่ายโอน ภารกิจการป้องกันและควบคุมไฟป่า รวมถึงสำรวจและตรวจสอบความครบถ้วน สมบูรณ์ของเครื่องมือดังกล่าว เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการปฏิบัติการป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟ
6.ผลักดันกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหา หมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนด เป้าหมายการลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับความร่วมมือในกรอบ คณะกรรมการชายแดนและจังหวัดคู่ขนาน เพื่อกำกับควบคุมแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการเผา
7.ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนและดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง สร้างความเข้าใจ กับประชาชน เปิดโอกาสและสร้างช่องทางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และจัดให้มีช่องทางรายงานผล การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่องทางสำหรับ ร้องทุกข์ เพื่อแจ้งเหตุการเกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่ง
ทางด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม. ว่าครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย พ.ศ. 2565-2569 (ASEAN – Russian Federation Plan of Action on Education 2022 – 2026) แผนปฏิบัติการนี้ จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยมีกลไกการดำเนินกิจกรรมผ่านคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย ซึ่งจะมีการจัดประชุมคณะทำงานครั้งต่อไปในปี 67 โดยไทยเป็นประธานร่วมกับรัสเซีย
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน -รัสเซีย พ.ศ.2565-2569 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ตรวจสอบ และประเมินกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยจะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.เสริมสร้างและพัฒนากิจกรรมร่วมทางการศึกษา อาทิ แบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างศักยภาพในระดับสากล และสนับสนุนเครือข่ายระหว่างโรงเรียนประถมและมัธยม สถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เป็นต้น
2.เสริมสร้าง พัฒนา และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และภาควิชาการ อาทิ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนและนักวิชาการในการประชุมเชิงปฏิบัติการและงานสัมมนาต่างๆ และเสริมสร้างศักยภาพในการทำวิจัยให้แก่นักวิจัยผ่านโครงการและเครือข่ายอาเซียน-รัสเซีย
3.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อาทิ จัดตั้งพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างองค์กรด้านการศึกษาและภาคธุรกิจ พัฒนาผลลัพธ์จากการศึกษา และการฝึกอบรมให้ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น
4.สร้างเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนครู ผู้ช่วย นักเรียน ผู้นำโรงเรียนหรือผู้บริหาร รวมถึงอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล และความร่วมมือระหว่างองค์การด้านการศึกษา เป็นต้น
5.เสริมสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างอาเซียน – รัสเซีย อาทิ เสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียน – รัสเซียในหัวข้อที่มีความสนใจร่วมกัน ขยายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น
“ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากแผนปฏิบัติการฉบับนี้ นักเรียนและเยาวชนไทยจะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมและทักษะในการใช้ชีวิต เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ระหว่างกัน และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและรัสเซีย” น.ส.รัชดา กล่าว
ขณะที่ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ว่าครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเท่าที่จำเป็นที่ไม่เป็นการสร้างภาระให้กับภาครัฐและประชาชน
กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ในกรณีค่าธรรมเนียมใบคำขอและใบแทน หากรายได้ที่ได้รับจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต้นทุนของภาครัฐในการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้หน่วยงานพิจารณายกเลิกค่าธรรมเนียม หรืออัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 100 บาท หรือรายได้จัดเก็บ ไม่เกิน 500,000 บาทต่อใบอนุญาตให้พิจารณายกเลิกค่าธรรมเนียมโดยให้มีการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมทุก 5 ปี เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และให้พิจารณาแนวทางการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมหรืออาจยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ จึงเสนอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม
“รัฐบาล มุ่งลดภาระค่าธรรมเนียมให้ประชาชนและลดภาระให้กับนายจ้างและผู้ประกันตน จึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวงนี้เพื่อให้เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมฉบับละ 50 บาท และค่าธรรมเนียมใบแทนบัตรประกันสังคมฉบับละ 10 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.67” น.ส.ทิพานัน กล่าว.