รีดรายได้เข้ารัฐพุ่ง! 2 เดือนแรกงบปี 66 จัดเก็บได้ 4.2 แสนล้าน
กระทรวงคลังเผยตัวเลขจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ 2 เดือนแรกในปีงบประมาณปี 66 ทะลุเป้ากว่าที่ประมาณการ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากสัมปทานเกี่ยวกับโทรคมนาคม และ คลื่นความถี่
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-พ.ย. 65) โดยระบุว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 424,738 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 55,418 ล้านบาท หรือ 15% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.5% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่
1.หน่วยงานอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM
- รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมปีจากงบประมาณก่อนหน้านี้
- กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
- กรมศุลกากร เนื่องจากมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-พ.ย. 65) รวมกันอยู่ที่ 378,656 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 26,534 ล้านบาท หรือ 7.5% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 12,180 ล้านบาท หรือ 3.3% โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ รวมอยู่ที่ 275,652 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 24,399 ล้านบาท หรือ 9.7% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 16,138 ล้านบาท หรือ 6.2%
ส่วนกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 75,639 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8,206 ล้านบาท หรือ -9.8% และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 13,423 ล้านบาท หรือ -15.1%
ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 27,365 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 10,341 ล้านบาท หรือ 60.7% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,465 ล้านบาท หรือ 52.9%
ส่วนรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ อยู่ที่ 54,716 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 11,408 ล้านบาท หรือ 26.3% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 17,141 ล้านบาท หรือ 45.6% ส่วนหน่วยงานอื่น นำส่งรายได้ 46,186 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 27,483 ล้านบาท หรือ 146.9% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 25,628 ล้านบาท หรือ 124.7%
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-พ.ย. 65) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 415,312 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 760,611 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 80,394 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 296,305 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 71,322 ล้านบาท เนื่องจากการนำส่งรายได้ของกรมสรรพากร จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกิน ของทุนหมุนเวียนเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน การชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี และการนำส่งรายได้ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ฯ