สกนช. ตรึง “ดีเซล” 35 บาท เล็งกู้ 3 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง
สกนช. เผยปี 66 ยังดูแลราคาขายปลีก “ดีเซล” ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร ในระยะสั้นต่อไป เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับที่ผันผวน พร้อมเล็งกู้ 3 หมื่นล้านบาท นำเงินทยอยชำระหนี้คู่ค้าน้ำมัน
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ปี 66 สกนช.ยังบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดูแลราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตรในระยะสั้นต่อไป เนื่องจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับผันผวน แม้เบื้องต้นจะไม่ร้อนแรงเท่ากับปี 65 โดยปี 66 คาดว่า เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือกรณีเลวร้าย คาดว่า ประมาณ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากราคาเฉลี่ยปี 65 อยู่ที่ 135.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อยู่ที่นโยบายภาครัฐ และราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ
“ราคาน้ำมันยังคงผันผวนพอสมควรทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานเป็นประธานได้มีการติดตามราคาตลาดโลกใกล้ชิดเพื่อการบริหารจัดการโดยปี 65 กบน.ประชุมถึง 189 ครั้งและตลอดทั้งปี 65 กองทุนฯได้สนับสนุนการดูแลผลกระทบประชาชนทั้งก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ที่มีการทยอยขึ้นแบบขั้นบันไดจาก 318 บาทต่อถัง 15 กก. ขณะนี้อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง ดีเซลตรึงไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร” นายวิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 1 ม.ค. 66 มีฐานะสุทธิติดลบ 121,491 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีแอลพีจี ติดลบ 44,300 ล้านบาท น้ำมันติดลบ 77,191 ล้านบาท มีการจัดเก็บอัตราเงินเข้ากองทุนฯ ดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 3.72 บาท แก๊สโซฮอล์ 95,91 ลิตรละ 1.70 บาท อี 85 และอี 20 ลิตรละ 0.010 บาท ขณะที่แอลพีจี อุดหนุน 6.12 บาทต่อกก. โดย 2 เดือนที่ผ่านมากองทุนฯเริ่มมีเงินไหลเข้าสะสมประมาณ 8,000 ล้านบาท
สำหรับการบริหารเงินกู้หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้วภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาททาง สกนช.ได้ดำเนินการกู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาท ลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้วกับธนาคารกรุงไทยและธนาคาออมสิน เพื่อทยอยนำไปชำระหนี้คู่ค้าน้ำมัน ส่วนกรอบวงเงินที่เหลืออีก 1.2 แสนล้านบาท ได้ประสานกับคลังโดยทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะประชุมวันที่ 9 ม.ค. นี้ เพื่อนำกรอบเงินกู้ดังกล่าวเข้าไปพิจารณาบริหารกรอบหนี้สาธารณะรวมของประเทศหลังจากนั้นจะนำเสนอครม.เห็นชอบต่อไป
โดยคาดหวังว่าจะได้รับการอนุมัติกรอบเงินกู้ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และจะต้องเร่งประสานให้พิจารณาทั้งหมดภายในปีนี้เพื่อให้เป็นตามกรอบที่กำหนดไว้ภายใน 1 ปีเพื่อที่จะทยอยกู้มาคืนเงินค้างชำระผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ซึ่ง ยังมีสภาพคล่องบริหารได้ไม่มีปัญหา
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. กล่าวว่า สกนช.จะพยายามบริหารกองทุนน้ำมันฯ ไม่ให้กระทบต่อประชาชน ส่วนราคาดีเซลแม้ตลาดโลกจะลด แต่ยังคงไม่อาจลดราคาขายปลีกให้ได้ เพราะยังมีภาระหนี้สูงจากการตรึงราคาที่ผ่านมา
ประกอบกับยังมีภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรที่ต้องรอการพิจารณาจากกระทรวงคลังว่าจะขยายเวลาลดให้ต่อไปหรือไม่ จากที่จะสิ้นสุด 20 ม.ค.66 ส่วนแอลพีจีที่ตรึงไว้ 408 บาทต่อถัง 15 กก. สิ้นสุด 31 ม.ค. ก็ต้องรอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบจึงยังไม่สามารถตอบได้