จับตา “แบงก์” วิ่งต่อ! รับ “เครดิต สวิส” อัพเป้า ชู KTB ขยับมากสุด 26%

“เครดิต สวิส” อัพเป้า 5 หุ้นแบงก์ ของไทย KTB, BBL, KBANK, SCB และ TTB ชู KTB ขยับมากสุด 25.71% โบรกฯ มองกลุ่มแบงก์ยังรับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น คาดครึ่งแรกปีนี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง


บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกบทวิเคราะห์ เพิ่มราคาเป้าหมายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง นำโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มูลค่า 22 บาท เพิ่มขึ้น 4.50 บาท คิดเป็น 25.71% จากเดิม 17.50 บาท, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มูลค่า 195 บาท เพิ่มขึ้น 35 บาท หรือ 21.88% จากเดิมให้ไว้ 160 บาท, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เป็น 1.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 10.34% จากเดิมคาดที่ 1.45 บาท, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็น 150 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท หรือ 2.74% จากเดิมมูลค่า 146 บาท และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เป็น 195 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาท หรือ 2.63% จากเดิมให้ไว้ 190 บาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์จากสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พบว่ามักให้ผลตอบแทนเดือน ม.ค. เป็นบวกแข็งแกร่ง เฉลี่ย 2.9% ด้วยความน่าจะเป็นสูงถึง 90% ทำให้คาดว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวได้ดี (Outperform)

โดยผลการดำเนินงาน คาดกำไรไตรมาส 4/2565 จะชะลอเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามปัจจัยฤดูกาล เนื่องจากเป็นช่วงที่บันทึกค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่คาดยังเติบโตได้แข็งแกร่งเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมี Catalyst บวกจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ที่คาดกนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในครึ่งแรกของปี 2566 ตามภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 รวมถึงยังเป็นกลุ่มที่ยังมูลค่า (Valuation) ถูก โดยปัจจุบันเทรด P/BV เพียง 0.6 เท่า เทียบกับก่อนโควิด-19 ที่เทรดราว 0.8-0.9 เท่า ทำให้คาดยังเป็นเป้าของกระแสเงินทุนที่ยังไหลเข้า หุ้นเด่นในกลุ่มคือ BBL, KTB, TTB

ขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ได้ออกบทวิเคราะห์ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ จำนวน 6 แห่ง (ไม่รวม KKP-BAY) โดยคาดการณ์ว่ากำไรรวมของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4/2565 จะอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ลดลง 9% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 15% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรที่ลดลงจากไตรมาสก่อนจะเป็นเพราะ OPEX เพิ่มขึ้น ตามฤดูกาลในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตาม คาดกำไรจะยังเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อขยายตัว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ Net Interest Margin หรือ NIM ดีขึ้น และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) ทยอยกลับสู่ระดับปกติ

ทั้งนี้หากพิจารณารายธนาคาร คาดว่ากำไรสุทธิของ BBL ในไตรมาส 4/2565 จะอยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน และ 25% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรของ BBL ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 จะเป็นเพราะพอร์ตสินเชื่อขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งมาจากสิ้นปี 2564 ท่ามกลาง NIM ที่เพิ่มขึ้น และ ECL ที่กลับสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ BBL เตรียมส่วนรองรับความเสียหายของหนี้เสียเอาไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีค่อนข้างมากแล้ว แม้ว่าจะมีลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่บางรายชำระคืนหนี้ในไตรมาส 4 แต่สินเชื่อของ BBL ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ประมาณ 5% จากสิ้นปี 2564 ซึ่งเมื่อประกอบกับ NIM ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย M-rate น่าจะทำให้ NII เพิ่มขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง และน่าจะมากเกินพอที่จะชดเชย OPEX ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาส 4

Back to top button