“ทองนิวยอร์ก” ปิดบวก 29 เหรียญ ขานรับข้อมูลศก.สหรัฐฟื้น-ดอลลาร์อ่อน
"ทองนิวยอร์ก" ปิดบวก 29 เหรียญ ได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (6 ม.ค.66) สามารถขึ้นมาปิดที่ 1,869.7 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับรายละเอียดโดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 29.1 ดอลลาร์ หรือ 1.58% ปิดที่ 1,869.7 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 2.4% ในรอบสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 2 ธ.ค.
ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 55.8 เซนต์ หรือ 2.38% ปิดที่ 23.982 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.11% แตะที่ 103.8790 ในวันศุกร์
อย่งไรก็ตามสัญญาทองคำปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลการจ้างงานเดือนธ.ค.ของสหรัฐที่บ่งชี้ว่าการจ้างงานใหม่ในสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย
เนื่องด้วยสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงกว่าคาดในวันศุกร์ แต่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้น ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% และเมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%
ส่วน ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคบริการ โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 ส่วนดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ