NER ตั้งเป้ารายได้ปี 66 แตะ 3 หมื่นล้าน พร้อมวางงบ 400 ลบ. ปรับปรุงเครื่องจักร-งานวิจัย
NER ตั้งเป้าปี 66 ปริมาณขายรวม 5 แสนตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท รับออเดอร์ลูกค้าเพิ่มขึ้น รุกตลาดอินเดีย พร้อมเตรียมวางงบ 400 ล้านบาท ปรับปรุงเครื่องจักรและงานวิจัยและพัฒนา
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยถึงเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมในปี 2566 ว่าบริษัทตั้งเป้าปริมาณขายรวมที่ 5 แสนตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากปี 2565 ที่คาดว่าจะมีปริมาณขายราว 4.6 แสนตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปริมาณออเดอร์จากลูกค้าเพิ่มขึ้น ยอดส่งออกสินค้ามีความคล่องตัวมากขึ้น จากสถานการณ์ที่ประเทศจีนเปิดประเทศอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566
นอกจากนี้จะโฟกัสไปที่การขยายตลาดกลุ่มลูกค้าประเทศอินเดียมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่ ในอินเดียเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย ตั้งเป้าในปี 2566 จะมียอดขายจากอินเดีย 5 หมื่นตันหรือคิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมดจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 จะส่งผลดีต่อยอดขายยางพาราของบริษัท ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดรถอีวีในจีนมีโอกาสได้รับการส่งเสริมทำให้ความต้องการใช้ยางล้อรถในจีนจะเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทจะเน้นขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะในอินเดียมากขึ้นด้วย หลังพบว่าอินเดียมีความต้องการใช้สินค้าค่อนข้างสูง
ด้านภาพรวมการส่งออกยางของบริษัท จะคล่องตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และราคาขายสินค้าคาดว่าจะดีขึ้นกว่าปี 2565 แม้ว่าสถานการณ์ตลาดรถยนต์ที่เป็นผู้บริโภคล้อยางรายใหญ่ยังอาจต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนชิปต่อไปอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ตั้งแต่ไตรมาส 1/66 บริษัทจะเริ่มส่งออกแผ่นปูรองนอนปศุสัตว์อย่างเต็มรูปแบบ โดยขณะนี้มีออเดอร์แรกที่รอส่งให้ลูกค้าในญี่ปุ่นแล้ว หลังจากได้ส่งสินค้าเข้าไปให้ลูกค้าทดลองใช้ และจะมีการปรับการผลิตให้ได้ตามแผนการขายสินค้า คาดว่าทั้งปี 2566 จะมีรายได้ในส่วนนี้ 300 ล้านบาท
สำหรับแผนงานในปี 2566 บริษัทมีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มกำลังผลิตสินค้ามากขึ้น รวมถึงมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาสินค้าสำเร็จรูป (สินค้าปลายน้ำ) อื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเปิดตัวสินค้าสำเร็จรูปในปี 2566 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนยอดขายสินค้าปลายน้ำจะเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้ส่วนผสมของยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่บริษัทในระยะยาว
โดยตั้งงบลงทุนไว้ราว 400 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ในปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตราว 15% ในช่วงเดือน เม.ย. 2566 จำนวน 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 300 ล้านบาท จะใช้ลงทุนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมากขึ้นในปี 2566