สธ.ชี้ยอดป่วย “โควิด” ลดเกินครึ่ง มองฉีดวัคซีนกระตุ้น ลดเจ็บป่วยหนัก-เสียชีวิต

“นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์” เผยแนวโน้มโควิด-19 ดีขึ้น มียอดผู้ป่วยลดลงเกินครึ่งเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ขณะที่อย. ได้ปรับให้วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สูตรต้นตำรับ พร้อมขยายอายุวัคซีนไฟเซอร์จาก 9 เดือนเป็น 15 เดือน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำสัปดาห์ที่ 1 ปี 2566 วันที่ 1-7 มกราคม 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 997 ราย เฉลี่ยวันละ 142 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 52 ของปี 2565

โดยพบว่าแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ลดลงถึงร้อยละ 53 เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 382 ราย ลดลงร้อยละ 28 ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 247 ราย ลดลงร้อยละ 30 และมีผู้ป่วยยืนยันเสียชีวิต 58 ราย เฉลี่ยวันละ 8 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 มากถึง 57 ราย ปัจจัยหลักมาจากการไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว 32 ราย ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแต่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 16 ราย ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 เดือน 10 ราย ในจำนวนนี้จะสังเกตุว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วง 3 เดือนก่อนป่วย ไม่พบการเสียชีวิตเลย วัคซีนมีส่วนช่วยในการลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน

“สธ. ขอแนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตหากติดเชื้อ โดยขณะนี้วัคซีนได้เตรียมพร้อม เพียงพอในทุกพื้นที่ จึงขอเน้นย้ำว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิดดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดมาจากประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้รับ ประชาชนจึงยังควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วมากกว่า 146 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง 57 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 82.7 เข็มที่สอง 54 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 77.7 และเข็มกระตุ้นเข็มที่สามมากกว่า 27 ล้านโดส เข็มที่สี่ 6 ล้านโดส ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือ วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปรับให้วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สูตรต้นตำรับ จำนวน 8 รุ่นการผลิต ที่ไทยนำเข้า ขยายอายุวัคซีนจาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน เนื่องจากการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -60 ถึง -90 องศาเซลเซียส โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิออกนอกช่วงสภาวะการเก็บรักษา จะทำให้วัคซีนยังคงประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัย

“สำหรับประชาชนที่กังวลใจ หรือเคยมีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนชนิด mRNA สธ.ได้จัดเตรียมวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ไว้ให้บริการตามความสมัครใจ ท่านสามารถติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อเข้ารับบริการวัคซีนได้ตามความสะดวก หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.ธเรศ กล่าว

Back to top button