ครม. เคาะกว่า 6 พันล้าน สร้างอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จ.น่าน รองรับผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
ครม. ไฟเขียวงบ 6.2 พันลบ. สร้างอ่างเก็บน้ำ "น้ำกิ" จ.น่าน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี หวังช่วยชาวบ้านกว่า 6 พันครัวเรือน และเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน วงเงินงบประมาณ 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี (ปีงบประมาณ 2567-2573) เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภคของประชาชนในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน รวมถึงสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว และขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดได้
ทั้งนี้โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังผา หมูที่ 2 ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีพื้นที่รวม 1,733 ไร่ 84 ตารางวา พื้นที่โครงการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาวและป่าน้ำสวด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว และกรมชลประทานได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเรียบร้อยแล้ว
สำหรับโครงการนี้เป็นการก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ความจุ 52.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวเขื่อน 845 เมตร ความสูงเขื่อน 81.5 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 12 เมตร พร้อมอาคารประกอบ เช่น อาคารส่งน้ำ อาคารทางระบายน้ำล้น และระบบชลประทานแบบท่อส่งน้ำ และคลองส่งน้ำคอนกรีต ความยาวรวม 88.13 กิโลเมตร
ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ มีพื้นที่ชลประทานเกิดขึ้นจำนวน 35,558 ไร่ ครอบคลุม 8 ตำบล ของจังหวัดน่าน ได้แก่ ตำบลผาทอง ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา ตำบลแสนทอง ตำบลศรีภูมิ ตำบลริม ตำบลตาลชุม และเทศบาลตำบลท่าวังผา และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 6,305 ครัวเรือน
โดยโครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และกรมชลประทานได้ออกแบบท่อส่งน้ำและอาคารโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไว้ด้วยแล้ว ดังนั้นเพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรอบ ที่ประชุมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการร่วมกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ หรือพลังแสงอาทิตย์ของโครงการ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดของโครงการเป็นสำคัญ