ทำความรู้จัก 7 หุ้น “ไอพีโอ” เรียงคิวเทรด Q1

ทำความรู้จัก 7 หุ้นไอพีโอน้องใหม่ เตรียมเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ช่วงไตรมาส 1/66 ประเดิมต้นปีด้วย SAF เข้าเทรดวันที่ 19 ม.ค. ถัดมา MASTER ต่อคิวเทรดวันที่ 25 ม.ค.นี้


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวมรวมบริษัทจดทะเบียนที่เตรียมเข้าจดทะเบียนและเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 1/66 (ม.ค.-มี.ค.66) จากที่ก่อนหน้านี้ นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้จะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนรวม 40 บริษัท แบ่งเป็นเข้า SET จำนวน 22 บริษัท และเข้า mai จำนวน 18 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตแคป) ณ ราคาเสนอขายไอพีโอราว 494,138.29 ล้านบาท

โดยข้อมูล ณ วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา มีบริษัทที่อยู่ระหว่างการยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเข้าจดทะเบียนในSET รวม 14 บริษัท ซึ่งได้รับอนุมัติในการเสนอขายหุ้นแล้วจำนวน 7 บริษัท ส่วนอีก 7 บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต.

ด้าน นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ยื่นไฟลิ่งแล้วรวม 15 บริษัท แบ่งเป็น Approved แล้ว 3 บริษัท และอยู่ระหว่างการเปิดจองซื้ออีก 1 บริษัท และเตรียมขายในเดือน ม.ค.

อย่างไรก็ตามโดยคาดว่าไตรมาส 1 ปีนี้ จะมีไอพีโอเข้าเทรดใน mai จำนวน 2 บริษัท และในปัจจุบันมีบริษัทที่สนใจเข้าจดทะเบียนใน mai มีเข้ามาสอบถาม คิดเป็น 2 เท่าจากนี้ แต่จะเข้าได้เท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัท ทำให้ปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนมากกว่าปีก่อนที่มี 18 บริษัท ซึ่งปัจจุบันมีในมือที่ได้ยื่นไฟลิ่งแล้วรวม 15 บริษัท

ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมหุ้นที่คาดว่าจะเข้าจะทะเบียนและทำการซื้อขายภายในไตรมาส 1/66 นี้ จำนวน 7 หลักทรัพย์  แบ่งเป็นหุ้นที่เตรียมเข้าตลาด mai ได้แก่

1.บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ประกอบธุรกิจ สถานพยาบาลด้านศัลยกรรมความงามครบวงจรภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช” เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 65 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 46 บาท คาดเทรดตลาด mai ช่วงปลายเดือนก.พ.66 โดยมี บริษัท ไพโอเนียแอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

2.บริษัท เอส.เอ.เอฟ. สเปเชียล สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ SAF ประกอบธุรกิจจำหน่ายและแปรรูปเหล็กกล้าเกรดพิเศษเพื่องานอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องในส่วนการเลื่อยเหล็กกล้า รวมถึงให้บริการชุบแข็งด้วยระบบสุญญากาศ เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 80 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.93 บาท เข้าเทรดตลาด mai วันที่ 19 ม.ค.นี้ โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

3.บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB ประกอบธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) หนังสือเสียง อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และบริการที่เกี่ยวข้อง เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 75 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

4.บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG ประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 157 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

5.บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ READY ประกอบธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการขายและการตลาดดิจิทัลแบบรวมเป็นหนึ่งเดียวที่ครอบคลุมด้านเว็บไซต์ โฆษณาออนไลน์ ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า และระบบจองโรงแรมโดยตรง โดยให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่ READY เป็นผู้พัฒนาขึ้นเองพร้อมทีมงานผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา เตรียมเสนอขายไอพีโอ จำนวน 35 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ส่วนหุ้นที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้แก่

1.บริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลังดัดแปร และแป้งแปรรูปอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 170 ล้านหุ้น โดยมี บริษัท ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ จำกัด

2.บริษัท เชฏฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE ประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงิน ได้แก่ 1.บริการจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) 2.ติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน และ 3.ให้สินเชื่อกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ภายใต้ชื่อ “สินเชื่อเพื่อความหวัง” เตรียมเสนอขายไอพีโอ จำนวน 562 ล้านหุ้น โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ขณะที่ นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ในปี 66 เป็นปีที่จะเห็นการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากกว่าปกติ เนื่องจากยังสามารถใช้หลักเกณฑ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องงบการเงิน ก่อนไปเปลี่ยนใช้เกณฑ์ใหม่ในปี 67 ซึ่งจะช่วยสร้างความคึกตักให้กับตลาดอย่างแน่นอน และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ในปี 66 ถือเป็นปีที่จะเห็นการนำบริษัทเสนอขายหุ้น IPO และเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทที่พร้อมต้องเร่งเข้าตลาดก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลในปี 67 ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้น ถ้าต้องปรับตามเกณฑ์ใหม่อาจทำให้การเข้าตลาดฯ ต้องล่าช้าออกไป เพราะต้องปรับแก้ข้อมูลบางส่วนเพื่อเป็นไปตามเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะการนำส่งงบการเงินฉบับเต็มตามมาตรฐานบัญชีใหม่ย้อนหลังทั้ง 3 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ย้อนหลังเพียง 1 ปี

โดยแม้ว่าปีนี้จะมีจำนวน IPO เข้ามามาก แต่ก็จะส่งผลดีในแง่ทางเลือกของนักลงทุนที่จะมีบริษัทหลากหลาย หรือเรียกว่ามีสินค้าในตลาดให้เลือกเพิ่มขึ้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดหุ้นก็ถือว่ายังเพียงพอรับการระดมทุนที่เข้ามามาก และ IPO ถือว่ายังเป็นเทรนด์ที่นักลงทุนต่างติดตาม เป็นขวัญใจนักลงทุน และสร้างผลตอบแทนได้ดี

แต่ด้วยความที่มีจำนวนหุ้น IPO ค่อนข้างมากการจะคาดหวังให้ราคาหุ้นน้องใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 100-200% เหมือนในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นจะมีความน่าสนใจหรือโดดเด่นมากๆ หรือไม่ และก็มีโอกาสที่หุ้นใหม่ที่เข้ามาอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง

ส่วนแหล่งข่าวจาก บล.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ กล่าวว่า ภาพของบริษัทจดทะเบียนที่เตรียมเดินหน้าเสนอขาย IPO เป็นจำนวนมากในปี 66 ก็ยังขึ้นกับความพร้อมของแต่ละบริษัทเป็นหลัก แม้จะต้องการเร่งขาย IPO และเข้าตลาดได้ให้ได้ตามเกณฑ์เดิม

สำหรับเกณฑ์ใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนในปีหน้าอาจจะทำให้บริษัทต้องใช้ระยะเวลาในการทำงบบัญชี 3 ปี ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ที่นานขึ้น ส่งผลต่อระยะเวลาในการเข้าระดมทุนของบริษัทที่จะล่าช้าออกไป บางบริษัทอาจจะไม่สามารถระดมทุนได้ตามระยะเวลาเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็กที่จะเข้ามาระดมุทนในตลาดหลักทรัพย์ แต่บริษัทขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว เพราะมีการจัดทำบัญชีที่เป็นระบบมาตรฐานอยู่แล้ว

การมีจำนวน IPO เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯมากในปี 66 ถือว่าทำให้ตลาดหุ้นไทยมีตัวเลือกในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะมีบริษัทที่หลากหลายเข้ามาให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน แต่ก็ต้องดูความน่าสนใจของกลุ่มอุตสาหกรรมของหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาด้วยเช่นกันว่าจะกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมใด และมีธุรกิจที่เป็นเทรนด์ใหม่เข้ามาหรือไม่ เพราะอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนภาพเป็นกลุ่มธุรกิจสมัยใหม่จากปัจจุบันที่ยังมีหุ้นที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่

ส่วนด้านสภาพคล่องหุ้น IPO ถือเป็นตัวที่เพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด จากที่มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ดึงดูดเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด ขณะที่นักลงทุนที่อยู่ตลาดแล้วก็ยังมีความสนใจและมีความพร้อมที่จะลงทุนในหุ้น IPO ตัวใหม่ ๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีจากหุ้น IPO แต่ในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับก็ขึ้นอยู่กับความโดดเด่นของธุรกิจนั้นๆ แต่ในภาพรวมการที่มี IPO เข้ามามากก็สะท้อนให้เกิดความคึกคักในตลาด IPO ได้

Back to top button