“วิษณุ” รอถก “กกต.” วาง 3 ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 5 พันล้าน

“วิษณุ” ยังไม่ได้คุย “กกต.” วางไทม์ไลน์เลือกตั้งใหม่ 3 แนวทาง แต่ไม่เกิน 7 พ.ค. คาดใช้งบเลือกตั้ง 5 พันลบ.


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้มีอยู่ 3 แนวทางคือ 1.ยุบสภาฯ ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ 2.ยุบสภาฯ หลังปิดสมัยประชุม หรือ 3.ไม่ยุบสภา แต่ปล่อยให้สภาฯ ครบวาระไปในวันที่ 23 มี.ค.66

โดยทั้ง 3 แนวทางนี้ จะมีวิธีปฏิบัติที่ต่างกัน ซึ่งยังไม่ได้มีการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องดังกล่าว เพราะยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะออกมาแนวทางใด

“ไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวทางไหน จึงยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ แต่วันนี้ กกต. เตรียมไทม์ไลน์แค่รัฐบาลอยู่จนครบวาระ จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 7 พ.ค. แต่หลักทั่วไปที่ทราบกันดีคือ การเลือกตั้งต้องจัดในวันหยุด เสาร์หรืออาทิตย์” นายวิษณุ ระบุ

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศให้มีวันหยุดราชการพิเศษเพิ่มเติมในวันที่ 5 พ.ค.66 นั้น ได้มีการหารือเป็นการภายในกับ กกต.แล้ว ว่าถ้าหากการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. แล้วมีวันหยุดยาวในช่วงนั้นจะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่ง กกต. ยืนยันว่าไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกระทันหันใน 3 แนวทาง ก็สามารถเชิญ กกต.มาหารือได้ทันที ส่วนงบประมาณในการจัดเลือกตั้ง คาดว่าต้องใช้ประมาณ 5,000 ล้านบาท

นายวิษณุ กล่าวว่า กกต. ไม่ได้ประสานหรือหารือถึงเรื่องการหาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้หากมีการกระทำผิด เชื่อว่า กกต. ก็คงมีคำสั่งออกมา หรือหากคิดว่าเป็นเรื่องที่เกรงว่าคนอื่นจะมีการกระทำผิดซ้ำ ก็จะมีการประกาศออกมา

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ควรจะนำระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งของ กกต. มาแจ้งให้ทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้แจ้ง เนื่องจากระเบียบยังไม่ออกมาทั้งหมด รวมถึงกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่เมื่อประกาศใช้กฎหมายลูกฉบับใหม่ ก็ควรทำตอนนั้น ซึ่งจะมีการยุบสภาหรือไม่ ไม่สำคัญ และที่ผ่านมา กกต. มีการออกระเบียบมาหลายครั้ง อาจจะมีการจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่เมื่อมีความชัดเจนแล้ว ก็ต้องมีการประมวลออกมา เพื่อให้เกิดความชัดเจน และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีและข้าราชการการเมืองรับทราบ” นายวิษณุ กล่าว

ส่วนกรณีที่ข้าราชการการเมือง มีการปฏิบัติงาน แต่เพจของพรรคการเมือง นำไปถ่ายทอดสด (Live) การประชุมด้วย จะถือว่าทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีความเสี่ยง หากนำไปถ่ายทอดเอง ซึ่ง กกต.เคยเตือนแล้ว และตนเคยพูดแล้วว่า 1.อย่าใช้ทรัพยากรของทางราชการ ซึ่งรวมถึงงบประมาณ บุคลากร และสถานที่ เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงให้แก่ตนเอง ผู้อื่นหรือพรรคการเมือง และ 2.อย่าใช้เวลาของทางราชการ

ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งหมดก่อน ถึงจะตัดสินได้ว่าเป็นการถ่ายทอดเพื่อเป็นการทำซ้ำ (repeat) ธรรมดา หรือทำเพื่อแฝงประโยชน์ของพรรคการเมือง

“จะสังเกตว่า บางท่านลาราชการ ตรงนั้นก็ตัดเรื่องเวลาไป เช่น ไปในเวลา 4 โมงครึ่ง หรือ 5 โมงเย็น ก็หลบเรื่องเวลาไป บางคนก็ใช้รถส่วนตัว ซึ่งทาง กกต. บอกว่าใช้รถก็ยังใช้ได้อยู่ เพราะว่าไปเติมน้ำมันเอง แต่คุณอย่าใช้รถส่วนกลางเท่านั้น เพราะรถส่วนกลางเป็นน้ำมันหลวง” นายวิษณุ กล่าว

Back to top button