DITTO ลุ้นปี 69 คาร์บอนเครดิตแตะ 1 แสนตัน ดันกำไรโต 50%
DITTO รุกหนัก “คาร์บอนเครดิต” ตั้งแต่ปี 69 คาดว่าอยู่ที่ราว 1 แสนตันต่อปี มีสัดส่วน 90% และสามารถสร้างกำไรในปี 2569 ได้ราว 230 ล้านบาท สร้างกำไรส่วนเพิ่มได้มากกว่า 50% ต่อปี
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยว่า ธุรกิจของ DITTO มีส่วนช่วยลดโลกร้อนมาตลอด โดยเฉพาะธุรกิจระบบการจัดการเอกสารในรูปแบบ Digital ครบวงจร “Document Management Solutions” ช่วยลดการใช้กระดาษมากกว่า 800 ล้านแผ่น เท่ากับกว่า 1.6 ล้านรีม หรือกว่า 4 พันตัน ลดการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 16,000 ตันซึ่งปริมาณกระดาษที่ใช้ลดลงนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ด้วย
ขณะเดียวกัน บ.สยาม ทีซี เทคโนโลยี มีโครงการคัดแยกขยะด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และยังจัดสร้างระบบการคัดแยกขยะขึ้นมาเพื่อมาบริหารจัดการ ทำให้มีเทคโนโลยีเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ ปัจจุบันได้เข้าไปคัดแยกขยะให้กับ อบจ. แห่งหนึ่ง มีปริมาณขยะ 160 ตันต่อวัน คำนวณคาร์บอนเครดิต 0.5-0.6% ต่อตันต่อวัน รวมทั้งปีจะได้คาร์บอนเครดิต 30,000-40,000 ตันต่อปี
โดยสาเหตุที่ทำให้ DITTO สนใจโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต เพราะมีผลการศึกษาพบว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนเครดิตได้ 8-10 ตันต่อไร่ต่อปี ดังนั้นพื้นที่ที่ DITTO ได้รับ 11,448 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะได้คาร์บอนเครดิตไม่น้อยกว่า 3.3 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย DITTO ได้ส่วนแบ่ง 90% อีก 10% เป็นของ ทช.
ทั้งนี้ พื้นที่ป่าชายเลนที่ DITTO เข้าไปปลูกและดูแล ถูกจัดว่าเป็น บลูคาร์บอน “BLUE Carbon” คือ คาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยระบบนิเวศชายฝั่ง รวมทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเลและลุ่มน้ำเค็ม ดูดซับกักเก็บคาร์บอนสูงเมื่อเทียบกับป่าบก นอกจากนี้ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เป็นเกราะป้องกันห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เป็นที่หลบภัยสัตว์ใกล้สูญพันธ์ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจึงทำให้มูลค่าบลูคาร์บอนจากป่าชายเลนสูงกว่าป่าประเภทอื่น
นายฐกร กล่าวเพิ่มเติมว่ายังมี ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ DITTO ตัดสินใจ คือ ปัจจัยแรก เนื่องจากบริษัทเอกชนไทยที่ส่งสินค้าออกไปยังตลาดยุโรปจะได้รับผลกระทบจากระเบียบ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับประเทศคู่ค้าสำหรับการส่งออกและนำเข้าที่ทางยุโรปจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ผู้ส่งสินค้าออกไปยุโรปจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ซึ่งราคาใบรับรองอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู ยิ่งทำให้ความต้องการ Carbon credit ของผู้ประกอบการมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาของ Carbon credit ปรับตัวขึ้นตามด้วย
ส่วนปัจจัยที่ 2 แม้ว่าปัจจุบันการมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนเครดิต ยังเป็นภาคสมัครใจ (T-VER) แต่ภายใน 2 ปีนี้ รัฐบาลจะผลักดันให้ใช้เป็นภาคบังคับไม่ใช่วิธีสมัครใจอย่างในปัจจุบัน ถึงตอนนั้นความต้องการคาร์บอนเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนเพราะจะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการจำนวนมาก
รวมถึงปัจจัยสุดท้าย ล่าสุด ครม. มีมติตาม ที่กรมสรรพากรได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 2 ฉบับ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการภาษี ทั้ง 2 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570
2.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบุคคลธรรมดาให้สามารถหักลดหย่อนเงินที่บริจาคให้แก่กรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า หาก DITTO เริ่มดำเนินโครงการในปี 2566 จะใช้เวลา 3 ปี ที่จะเริ่มรับรู้คาร์บอนเครดิตในปี 2569 โดยคาดเงินลงทุนเริ่มต้นในปีแรกจะอยู่ที่ราว 160 – 170 ล้านบาท และค่าดูแลรักษาตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปจะอยู่ที่ 30 ล้านบาทต่อปี โดยตั้งแต่ปี 2569 คาดว่า DITTO จะได้รับคาร์บอนเครดิตต่อปีอยู่ที่ราว 1 แสนตันต่อปี มีสัดส่วน 90%
หากอิงจากตลาดในต่างประเทศอย่างยุโรปราคาตอนนี้อยู่ที่ราว 70 ยูโร หรือ 2,600 บาทต่อตัน จะสามารถสร้างกำไรในปี 2569 ได้ราว 230 ล้านบาท สร้างกำไรส่วนเพิ่มได้มากกว่า 50% ต่อปี จะครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดที่ลงทุนไปใน 3 ปีแรก และจะสร้างกำไรอย่างต่อเนื่องไปอีก 26 ปีที่เหลือ ซึ่งคาดว่าในอนาคตราคาคาร์บอนเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน