หอการค้าไทยชี้ “ตรุษจีน” เงินสะพัด 4.5 หมื่นลบ. “นิวไฮ” รอบ 3 ปี

“หอการค้าไทย” เผยผลสำรวจช่วงวันตรุษจีนปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.6% กลับมาเป็นบวกในรอบ 4 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 45,017.17 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 3 ปี


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “ทัศนะของผู้ประกอบการและประชาชน ในช่วงวันตรุษจีน” พบว่า การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงตรุษจีนปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.6% กลับมาเป็นบวกในรอบ 4 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 45,017.17 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 3 ปี

ทั้งนี้ จากการสำรวจ 1,250 ตัวอย่าง ทั่วประเทศจำนวน ในช่วงวันที่ 9-15 ม.ค. 66 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่า การใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนไม่เปลี่ยนแปลง-เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ผู้บริโภคเตรียมเงินในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้น แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่มองว่า ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ได้โบนัสเพิ่มขึ้น มีมาตรการกระตุ้นภาครัฐ และรายได้เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยในช่วงตรุษจีนยังเป็นรูป K-shape การฟื้นตัวเกิดขึ้นจากคนชั้นกลางขึ้นไป ที่พร้อมจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-น้อย ยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ทั้งนี้ ในส่วนของความคึกคักในช่วงตรุษจีน ส่วนใหญ่มองว่า เท่าเดิม-มากขึ้นกว่าปีก่อน

“การจับจ่ายใช้สอยกลับมาทั้งแผง ตั้งแต่การซื้อของให้ตัวเอง ให้คนอื่น ของไหว้ อั่งเปา ตลอดจนการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้ก็ตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย” นายธนวรรธน์ กล่าว

ในส่วนของความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 พบว่า คนไทยกังวลโควิดต่ำสุดในรอบ 4 ปี อย่างไรก็ดี ในช่วงตรุษจีนกลุ่มตัวอย่างยังมีความกังวลมาก หากต้องอยู่ในพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ เช่น การไปสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“คนไทยยังเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด แต่โควิดไม่ได้มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่คนยังห่วงเรื่องการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมชน แต่ถ้าอยู่กับญาติพี่น้องไม่กังวล ดังนั้น ถ้าสถานการณ์โควิดไม่บานปลายไปมากกว่านี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในเชิงเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับสภาพหนี้ครัวเรือนในปี 66 เทียบกับปี 65 ส่วนใหญ่มองว่า มีเท่าเดิม-มากขึ้น โดยผู้ที่มีหนี้มากกว่ารายได้ คือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 66 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.51-3.00%

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงความกังวลจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน อันดับแรกคนไทยกังวลเรื่องการไม่มีมาตรการป้องกัน / รองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ รองลงมาคือ กังวลเรื่องความเสื่อมโทรมของสถานที่ท่องเที่ยว และการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ ส่วนผลดีของการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน มองว่าการท่องเที่ยวคึกคักขึ้น และเศรษฐกิจดีขึ้น

“สังเกตได้ว่า ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ในโลกโซเชียลว่า การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้โควิดแพร่ระบาดมากขึ้น หรือคนไทยติดโควิดมากขึ้น แต่คนไทยก็ยังกังวลโควิดจากจีน อย่างไรก็ดี มองว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เรื่องการผลักให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น และดูว่าการที่คนจีนเข้ามาจำนวนมาก จะมีผลต่อสถานการณ์โควิดหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์จะเด่นชัดในช่วงก.พ.-มี.ค. 66 ทั้งนี้ ถ้าไม่มีโควิดแพร่กระจายอย่างรุนแรง การท่องเที่ยวไทยจะกลับมามากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

หอการค้าไทย ยังได้มีการสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีน พบว่า มีความสอดคล้องกับผู้บริโภค คือมองว่า บรรยากาศตรุษจีนจะคึกคักมากกว่าเดิม-เท่าปีก่อน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเชื่อว่า ปีนี้ผู้บริโภคจะมีการซื้อของเพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการเตรียมของขายสำหรับปีนี้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พบว่า ผู้ประกอบการมองในเชิงดีกว่าผู้บริโภค เนื่องจากมีการรับรู้ก่อน โดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวที่ 3.01-3.50%

สำหรับความกังวลจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ภาพรวมผู้ประกอบการไม่ค่อยกังวล โดยกังวลมากสุดคือเรื่องการจราจรติดขัด รองลงมาคือเรื่องการไม่มีมาตรการป้องกัน/ รองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ และการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ ส่วนผลดีของการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน มองว่า การท่องเที่ยวและการจ้างงานดีขึ้น

“ยืนยันว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ไม่มีผลในเชิงลบ ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคยังกังวลอยู่” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในการสำรวจในช่วงตรุษจีน คือ มีสัดส่วนการชำระสินค้าด้วยการโอนเงินมากขึ้น เนื่องจากคนติดพฤติกรรมการโอนเงินมาจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (cashless) ขณะเดียวกัน ยังมีการซื้อสินค้าผ่านบริการ Delivery มากขึ้นด้วย ถือเป็นการถ่ายโอนจาก Analog economy สู่ Digital Economy

Back to top button