“ชนะชัย จุลจิราภรณ์” ไม่เอี่ยวยักเงิน 278 ล้าน! ชี้เป้า “เจ้าหน้าที่การเงิน” มีพิรุธ
“ชนะชัย จุลจิราภรณ์” อดีต CEO บล.เอเชีย เวล์ ย้ำไม่เอี่ยวยักเงินลูกค้า 278 ล้านบาทชำระเป็นค่าซื้อหุ้น MORE ตรวจสอบได้ ส่วน ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับ AWS จำนวน 5.30 ล้านบาท เป็นช่วงไม่ได้บริหาร ฟากเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการเงินมีพิรุธ
นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด หรือ AWS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงกรณีที่บริษัทได้นำเงินของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของบริษัทไปชำระเป็นค่าซื้อหุ้น MORE กับสำนักหักบัญชี (TCH) โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินการดังกล่าวจำนวน 278 ล้านบาทว่า ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาบอร์ดบริหาร AWS ได้พูดคุยกับรองเลขาธิการ ก.ล.ต.อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 หลังพบความผิดปกติเกี่ยวกับคำสั่งการซื้อขายหุ้น MORE ซึ่งบอร์ด AWS ได้ย้ำให้ “เจ้าหน้าที่ดูแลการเงิน” ของบริษัทห้ามนำเงินลูกค้าไปใช้
ทั้งนี้ จนเช้าวันจันทร์ 14 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ต้องส่งเงินให้ TCH เพื่อส่งเงินให้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่มีคำสั่งขายหุ้น MORE โดย AWS ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ในฝั่งผู้ซื้อได้ทำเรื่องขออนุมัติวงเงิน OD จำนวน 120 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพที่ทางบริษัทฯมีอยู่เพื่อไม่ให้การตัดบัญชีของ TCH มีปัญหา และกระทบต่อวงเงินลูกค้า
ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ทางตนมารู้ว่าได้มีการนำเงินลูกค้าไปชำระเป็นค่าซื้อหุ้น MORE ตนก็ได้แจ้งไปยัง ก.ล.ต. ทันทีหลังจากทราบข่าว จากนั้นทาง ก.ล.ต. ก็ได้มีการซูมเข้ามาสอบถามว่า ทำไมนำเงินลูกค้าไปใช้ทั้ง ๆ ที่ได้บอกไว้ผ่านการประชุมก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่มีการนำเงินลูกค้าไปใช้ พร้อมกันนั้นตนก็ได้สอบถามไปยัง “เจ้าหน้าที่ดูแลการเงิน” ถึงสถานการณ์เงินทั้งของลูกค้า และบริษัทว่ามีจำนวนเท่าไร
“ทาง ก.ล.ต. ได้ข้อมูลไปหมดแล้ว แต่ AWS ได้มีการนำเงินของลูกค้าไปใช้จริง ซึ่งเป็น CFO ที่ดูแลการเงิน ได้ทำการโดยพลการ โดยไม่ได้ขออนุมัติแต่อย่างใด และทาง ก.ล.ต. ก็ได้ส่งทีมเข้ามาตรวจสอบ และมีข้อมูลทั้งหมดแล้ว” นายชนะชัยกล่าว…
จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ ก.ล.ต. เข้ามาตรวจสอบการเงินของ บล. เอเชีย เวล์ ทันที โดยเริ่มตรวจสอบข้อมูลของปี 2565 และเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การเงินของบริษัทฯ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบย้อนหลังกลับไปถึงปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทมีการก่อตั้ง จนพบว่า บริษัท เอเชีย เวลท์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้เข้ามายืนเงินจาก บล.เอเชีย เวล์ โดยทำเป็นสัญญากู้ยืมระยะสั้น แล้วยังไม่ได้ส่งเงินคืน มีเพียงการส่งดอกเบี้ยเพียงครั้งคราวเท่านั้น
จึงเป็นที่มาที่ทำให้ สำงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เปรียบเทียบปรับ บล.เอเชีย เวลท์ ในความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4 กรณี โดยคิดเป็นมูลค่าเปรียบเทียบปรับรวม 5,295,000 บาท
สำหรับกรณีแรกคำสั่งเปรียบเทียบที่ 9/2566 ปรับเป็นเงิน 2,110,000 บาท จากความผิดตามมาตรา 98 (3) จากการที่ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 บล.เอเชีย เวลท์ กระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด โดยมีระบบงานในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องไม่มีประสิทธิภาพ
ส่วนกรณีที่ 2 คำสั่งเปรียบเทียบที่ 9/2566 โดยปรับเป็นเงิน 582,000 บาท ความผิดตามมาตรา 97 จากการที่ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 บล.เอเชีย เวลท์ ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด
ขณะที่กรณีที่ 3 มีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 9/2566 โดยปรับเป็นเงิน 1,086,000 บาท จากการทำผิดตามมาตรา 109 โดยระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 บล.เอเชีย เวลท์ ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ได้รายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เมื่อ บล.เอเชีย เวลท์ มี NC เท่ากับหรือน้อยกว่า 1.5 เท่าของ NC ขั้นต่ำที่ บล.เอเชีย เวลท์ ต้องดำรงไว้ และนำส่งรายงานการดำรง NC รายเดือนต่อสำนักงานไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
รวมทั้งกรณีที่ 4 มีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 9/2566 โดยปรับเป็นเงิน 1,517,000 บาท ความผิดตามมาตรา 141 จากการที่ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 บล.เอเชีย เวลท์ ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ได้จัดทำและยื่นแผนการแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในเวลาที่กำหนด และไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในกรณีที่ไม่สามารถดำรง NC ได้ตามที่ประกาศกำหนด
อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่าระยะเวลาการกระทำความผิดที่ทาง ก.ล.ต. ได้เปรียบเทียบปรับ บล. เอเชีย เวลท์ ทั้ง 4 กรณี คิดเป็นมูลค่าเปรียบเทียบปรับรวม 5,295,000 บาท พบว่าเป็นการปรับเครทเก่าเมื่อช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมา เท่ากับว่าไม่เกี่ยวของอะไร เพราะเข้ามาบริหาร บล. เอเชีย เวลท์ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
ส่วนกรณีการเปิดบัญชีของ นายอภิมุข บํารุงวงศ์ คือได้มีการเปิดบัญชีก่อนหน้าที่ตนเข้ามาบริหารบริษัทฯ แต่อย่างไรก็ตามการอนุมัติวงเงินให้กับนายอภิมุข ถือเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของบริษัทฯ ซึ่งได้ผ่านคณะกรรมการพร้อมมีเอกสารยืนยัน เนื่องจากทางนายอภิมุขใช้เอกสารทางการเงิน และตำแหน่งผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE ที่ติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ 1 ใน 5 ดังนั้นการปล่อยวงเงินก็ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ไม่มีให้เกินโอเวอร์รู เพราะนายอภิมุขได้วงเงินจากบล.เอเชีย เวลท์ ประมาณ 300 ล้านบาทตามบอร์ด อนุมัติ เพราะอย่างไรถ้าวงเงินเกิน 100 ล้านต้องเข้าบอร์ด
โดยกระทั่งนายอภิมุขก็ได้โอนหุ้น MORE เข้ามาเป็นหลักประกันเกิน 20% ซึ่งหลักประกันเพียงพอต่อการซื้อโดยทำให้มีไม้ใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษจิกายน 2565
อย่างไรก็ตามย้ำว่าเกณฑ์การปล่อยวงเงินของ บล. เอเชีย เวลท์ เป็นไปตามเกณฑ์ของสมาคมหลักทรัพย์อยู่แล้ว โดยถ้ามีเอกสารทางการเงินว่ามีเงินสดต้องดูสามเดือนย้อนหลัง หรือถ้ามีตราสารหนี้ รวมถึงดูว่าลูกค้าทำธุรกิจอะไร หรือทำงานอะไรได้เงินเดือนเท่าไร เป็นต้น