ไทยคมเฮ! “ประมูลดาวเทียม” เดินต่อ “ศาลปกครอง” ไม่คุ้มครองชั่วคราว
ศาลปกครองกลาง ยกคำร้องสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอคุ้มครองชั่วคราว “ประมูลวงโคจรดาวเทียม” หลังไม่เข้าเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อชาติ
จากกรณีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบในการปล่อยให้มีการประมูลวงโคจรดาวเทียม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการรับรองและเซ็นต์สัญญากับผู้ชนะการประมูลด้วย นั้น
จากนั้น ตุลาการศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของสมาคมฯ ไว้พิจารณาไต่สวนและพิพากษาแล้ว ขณะเดียวกันได้มีคำสั่งด่วนเรียกบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ผู้ชนะการประมูลเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้แล้ว เพราะเห็นว่าหากศาลมีคำพิพากษาหรือเพิกถอนคำสั่งตามคำขอท้ายคำฟ้อง บริษัททั้งสองอาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีได้ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ทั้งนี้ สมาคมฯได้มีคำขอขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยการสั่งระงับการรับรองและเซ็นต์สัญญากับผู้ชนะการประมูลทั้งสองด้วยนั้น
ล่าสุดศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง ยกคำขอ ให้ศาล มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษา หรือทุเลา การบังคับตามคำสั่ง ทางปกครอง ของผู้ถูกฟ้องคดี หรือกำหนดวิธีการ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในระหว่างการพิจารณาเนื่องจากในชั้นนี้ประกาศของ กสทช. จัดให้มีการประมูลวงโคจรดาวเทียมทั้ง 5 ชุด ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากการชี้แจงของคณะกรรมการ กสทช. ยืนยันว่าการเอกชนเข้าประมูล ไม่ใช้การให้สิทธิเด็ดขาดในวงโคจรดาวเทียม เป็นเพียงการอนุญาตให้ใช้วงโคจรเท่านั้น อีกทั้ง ยังมีความจำเป็นที่ประเทศต้องรักษาสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติ และสิทธิในการได้รับความคุ้มครองจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องหาเอกชนเข้ามาดำเนินการ
นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้อง คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนักงานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่ผู้ออกคำสั่งทางปกครอง จึงเข้าข่ายที่จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในประเด็นดังกล่าวได้เช่นกัน