สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ม.ค. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ม.ค. 2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ (23 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์ และโบอิ้ง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,629.56 จุด พุ่งขึ้น 254.07 จุด หรือ +0.76%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,019.81 จุด เพิ่มขึ้น 47.20 จุด หรือ +1.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,364.41 จุด พุ่งขึ้น 223.98 จุด หรือ +2.01%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันจันทร์ (23 ม.ค.) โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนำตลาดปรับตัวขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นที่ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงได้นั้น ได้บดบังการแสดงความเห็นที่สนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 454.49 จุด เพิ่มขึ้น 2.37 จุด หรือ +0.52%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,032.02 จุด เพิ่มขึ้น 36.03 จุด หรือ +0.52%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,102.95 จุด เพิ่มขึ้น 69.39 จุด หรือ +0.46% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,784.67 จุด เพิ่มขึ้น 14.08 จุด หรือ +0.18%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันจันทร์ (23 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,784.67 จุด เพิ่มขึ้น 14.08 จุด หรือ +0.18%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (23 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรหลังจากสัญญาน้ำมัน WTI พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ในระหว่างวัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 2 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 81.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 56 เซนต์ หรือ 0.64% ปิดที่ 88.19 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (23 ม.ค.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 40 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 1,928.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 38.1 เซนต์ หรือ 1.59% ปิดที่ 23.554 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.5 ดอลลาร์ หรือ 0.81% ปิดที่ 1,056.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 21.80 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,701.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (23 ม.ค.) ขานรับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้ ยูโรยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป หลังการร่วงลงของราคาก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.1% แตะที่ 102.1140
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0860 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0854 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2371 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2396 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.66 เยน จากระดับ 129.59 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9223 ฟรังก์ จากระดับ 0.9204 ฟรังก์
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3383 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3384 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.2548 โครนา จากระดับ 10.2867 โครนา
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้, ตลาดหุ้นไต้หวัน, ตลาดหุ้นจีน, ตลาดหุ้นฮ่องกง, ตลาดหุ้นมาเลเซีย, ตลาดหุ้นสิงคโปร์ และตลาดหุ้นอินโดนีเซียปิดทำการวานนี้ (23 ม.ค.) เนื่องในวันตรุษจีน