“ออมสิน” กางแผนเปิด “นอนแบงก์” ครึ่งหลังปี 66 ช่วยรายย่อย-ลดหนี้นอกระบบ
ธนาคารออมสิน เตรียมส่ง “นอนแบงก์” ลงสนามครึ่งหลังปี 66 หวังช่วยลูกค้ารายย่อย และลดหนี้นอกระบบตามชุมชน เดินหน้า Social Impact หวังประชาชนเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรม
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2566 ว่า คาดในครึ่งปีหลังนี้ ธนาคารออมสินจะเปิด Non-bank ของธนาคารเอง จะทำให้ช่วยลูกค้ารายย่อย ใช้ความเสี่ยงกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ดีขึ้น มีความคล่องตัวในการดำเนินการ จะนำไปใช้ในการแก้หนี้นอกระบบตามชุมชน จะเป็นตัวที่ทำดิจิทัล เลนดิ้ง ตัวที่ 2 ควบคู่กับ MyMo เป็นโมบายแอปฯ 2 ตัว น่าจะเปิดได้ไตรมาส 3-4 ปีนี้
โดยธนาคารออมสิน มีแผนยกระดับการสร้างผลกระทบเชิงบวก Social Impact ผ่านมิติการดำเนินงาน 3 ด้าน โดยตั้งเป้าให้ความช่วยเหลือและสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมได้ในระดับที่ลึกและกว้างขึ้น และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบ SDGs ประกอบด้วย
1.สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ผ่านบริการสินเชื่อที่ดิน “มีที่ มีเงิน” และบริการ Digital Lending ทั้งส่วนที่ให้บริการผ่านแอป MyMo และให้บริการผ่าน Non-Bank ที่จะเปิดตัวครั้งแรกภายในปี 2566
2.พัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านการสร้างผู้ประกอบการ สร้างชุมชนเข้มแข็ง และการสร้างความมั่นคงยามเกษียณแก่ประชาชน
3.การบูรณาการแนวคิดเพื่อสังคมลงในภารกิจสำคัญของธนาคาร (Social Mission Integration) ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) และการทำโครงการพิเศษต่าง ๆ (Project)
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปี 65 ที่ผ่านมา ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 ธนาคารมียอดสินทรัพย์รวม 3.10 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11% จากปี 62) มีเงินฝากรวม 2.64 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.7% จากปี 62) มีสินเชื่อรวม 2.29 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 62) และระดับความแข็งแกร่ง โดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 17.69%
ขณะเดียวกันธนาคารยังสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ให้อยู่ในระดับ 2.55% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายควบคุม และมีเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากหนี้เสีย รวม 101,878 ล้านบาท ซึ่งเป็นการแตะระดับแสนล้านบาทครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ ช่วยเสริมแกร่งให้ธนาคารมีความมั่นคงในระยะยาว คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPLs (Coverage Ratio) สะท้อนความมั่นคงมีเสถียรภาพของธนาคารที่ระดับ 174.28%
ทั้งนี้ธนาคารสามารถทำกำไรได้ในระดับที่เหมาะสม รวม 27,126 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา และสูงกว่าปี 62 ก่อนเปลี่ยนจุดยืนเป็นธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งผลกำไรเกิดจากการที่ธนาคารลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง (Cost Reduction Program) เพื่อนำกำไรไปจัดสรรทำภารกิจช่วยสังคมตามนโยบายรัฐ และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 17,349 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดนำส่งสูงสุดอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง
อย่างไรก็ดีหลังจากที่ธนาคารออมสินได้เปลี่ยนมาสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กลางปี 63 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ตอบรับนโยบายรัฐบาลในการเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังภาคธุรกิจและประชาชน โดยทำภารกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ในวงกว้าง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี มีผู้ได้รับประโยชน์เป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่าง ๆ มากถึง 16 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินที่ธนาคารให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนแล้วกว่า 47,500 ล้านบาท
โดยผ่านมิติความช่วยเหลือ 3 ด้าน ได้แก่
1.มิติการช่วยลดต้นทุนการกู้ สร้างแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและเป็นธรรม ผ่านโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โครงการลดดอกเบี้ยสินเชื่อครู โครงการดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด ทำให้ประชาชนมีทางเลือกการกู้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง คิดเป็นส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 32,800 ล้านบาท
2.มิติการช่วยลดภาระของลูกหนี้ ทั้งการออกมาตรการพักชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวิกฤติโควิด- 19 ซึ่งทำให้ธนาคารมีรายได้ลดลงกว่า 10,700 ล้านบาทจากการหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ย
3.มิติการช่วยสนับสนุนงบประมาณ จำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพื่อสังคม เช่น โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ และโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกมากมายภายใต้กรอบแนวคิด ESG เป็นต้น