“คมนาคม” เปิดผลสอบป้าย “สถานีกลาง” 33 ล้าน ชี้ “รฟท.” ทบทวนปมจัดซื้อจัดจ้าง
เปิดผลสอบ “ป้ายสถานีกลาง 33 ล้านบาท” ชี้แนะ รฟท. ควรทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ค่างานออกแบบที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติที่สามารถปรับลดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่า
ภายหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว มีประเด็นที่จะต้องตรวจสอบในรายละเอียด 2 ประเด็น คือประเด็นความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง
โดยมีผลการตรวจสอบในประเด็นนี้ คือ ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท. ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิมที่ รฟท. ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่ามีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน
ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท. ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้แต่คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาให้ข้อเสนอแนะแก่ทาง รฟท. ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ รฟท. อาจทบทวนรายละเอียดทั้งในส่วนของวัสดุเทคนิคที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ รวมถึงติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดทำเทียบกับติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งก่อน ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และจำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง
สำหรับ รฟท. อาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพยังดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้
นอกจากนี้ รฟท. อาจทบทวนค่างานออกแบบที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่อาจสามารถปรับลดได้ เช่น การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้ รฟท. ได้อ้างเหตุผลของการจ้างด้วยเหตุตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
โดยทางคณะกรรมการ พิจารณาตรวจสอบว่าการจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงของ รฟท. เป็นไปตามเหตุผล และหลักการของมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ซึ่งมีผลการตรวจสอบสรุปได้ คือคณะกรรมการ เห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. ตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 แม้จะเป็นการใช้ดุลยพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจ และ รฟท. ได้ชี้แจงมาข้างต้นไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตามก็สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม รฟท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้อง กับ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมายที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน
นอกจากนี้ เห็นควรให้ รฟท. พิจารณาทบทวนตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้เกิดความครบถ้วนชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0433.2/ว 206 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป
โดยภายหลังการแถลงดังกล่าวนายสรพงศ์ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ในประเด็นถึงความผูกพันของผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวต่อการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ผลการตรวจสอบดังกล่าวไม่มีข้อผูกพันต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้นการพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการต่อหรือไม่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นเป็นอำนาจของการรถไฟแห่งประเทศไทย
สำหรับประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเคยอ้างว่าเป็นไปตามคำสั่งเร่งรัดของกระทรวงคมนาคมนั้น นายสรพงศ์กล่าวว่า คำสั่งเร่งรัดของหน่วยงานราชการนั้น คือคำสั่งที่เร่งให้มีการดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย และธรรมาภิบาล จึงไม่สามารถใช้อ้างถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้
ส่วนของการดำเนินการลำดับต่อไปของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงที่เห็นควรจะต้องมีการส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางวินิจฉัย โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
รวมถึงประเด็นการตั้งข้อสังเกตถึงการเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เว้นป้ายชื่อไว้เพื่อรอชื่อของสถานีอย่างเป็นทางการนั้น นายสรพงศ์ปฏิเสธให้ความเห็น