KBANK คาดกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 32.50-33.30 บ./ดอลลาร์
KBANK คาดกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า (30 ม.ค.-3 ก.พ.) เคลื่อนไหว 32.50-33.30 บ./ดอลลาร์ แนะจับตาประชุมเฟด- -ฟันด์โฟลว์-ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (30 ม.ค.-3 ก.พ.) ไว้ที่ระดับ 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐฯ และผลประชุมเฟด (31 ม.ค.-1ก.พ.) ผลการประชุม ECB และ BOE ทิศทางเงินทุนต่างชาติ (Flow) และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนธ.ค.ของไทยโดย ธปท.
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการเดือนม.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค. และดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเดือนม.ค.ของจีน ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สำหรับเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบก่อนทยอยอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยช่วงต้นสัปดาห์เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 32.57 บาท/ดอลลาร์ ตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ขาดแรงหนุนท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% ในการประชุมปลายเดือนนี้ นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับจังหวะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติม หลังจากที่ตลาดทยอยประเมินความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของไทยในรอบการประชุมถัดๆ ไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์มีปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จีดีพีในไตรมาส 4/65 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งโอกาสที่เฟดจะส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินในหลายๆ รอบการประชุมข้างหน้า
ในวันศุกร์ที่ 27 ม.ค.66 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.83 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.81 บาท/ดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 23-27 ม.ค.นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 2,921 ล้านบาท และ 2,189 ล้านบาท