KTB ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-ฝาก มีผลพรุ่งนี้
KTB ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05%-0.25% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ MRR-MOR-MLR 0.1-0.2% มีผล 1 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05%-0.25% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออม สร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้นในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น และปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เพิ่มขึ้น 0.20% ต่อปี เป็น 6.35% ต่อปี ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เพิ่มขึ้น 0.15% ต่อปี เป็น 6.87% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) 0.10% ต่อปี เป็น 6.87% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศนั้น
“ธนาคารมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สะท้อนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ และต้นทุนการเงินในระบบที่เพิ่มสูงขึ้น โดยได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ฝากเงิน และกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ มีภาระหนี้สูง และอ่อนไหวต่อภาระค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น โดยมีนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้เวลาลูกค้าปรับตัว และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ” นายผยง กล่าว
โดยธนาคารพร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมสนับสนุนให้เกิดการเร่งปรับตัวอย่างต่อเนื่อง รองรับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ จากปัจจัยความท้าทายรอบด้าน เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านมาตรการความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือแบบตรงจุดและทันท่วงที
รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือพิเศษเพื่อแก้หนี้อย่างยั่งยืน สำหรับลูกค้าประเภทบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวดการชำระหนี้แบบ Step Up พักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้เปลี่ยนประเภทหนี้ วงเงินกู้หมุนเวียน (Revolving Loan) เป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการเพิ่มสภาพคล่อง เป็นต้น
“การพิจารณาลูกค้าแต่ละราย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด โดยธนาคารจะเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ และความเสี่ยงของลูกค้า” นายผยง กล่าว