LEO ตั้งเป้าปีนี้กำไรโต 20% ผงาดขึ้นแท่น “ผู้บริการโลจิสติกส์” จ่อเข้า SET ปี 67
LEO เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 66 ด้วย 365 Degree Collaboration รุกขยายธุรกิจเต็มพิกัดด้วย JV-M&A ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมลุยบริการ Green Logistics ปักหมุดกำไรปี 66 โต 15-20% หวังยกระดับเข้าเทรดตลาด SET ภายในปี 67
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ตั้งเป้าเป็นปีแห่งก้าวสู่ความเป็นบริษัท Blue Chip Stock ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน โดยวางเป้าการเติบโตของ Gross Profit Margin ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น Non Freight และมีกำไรขั้นต้นมากกว่า 40-45% เช่น Self Storage,Container Depot, Warehouse & Logistics Center และ Cold Chain Logistics
โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ ใหม่ๆ เช่น การเปิด Self Storage สาขาที่ 3 และพัฒนาโครงการ Warehouse & Logistics Center ร่วมกับ บริษัท เอชเค แอสเซท แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือ บริษัท เสนา ดีเวลอบเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA, การพัฒนาธุรกิจ Cold Chain Logistics กับ บริษัท สหไทย เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT
รวมถึงในปี 2566 นี้บริษัทจะมีการเปิดบริการ Self Storage แห่งที่ 4 และลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) แห่งที่ 2 ซึ่งเมื่อรวมรายได้จากบริษัท JV ใหม่ที่เกิดขึ้นและการขยายงานของทางบริษัทเองก็จะทำให้รายได้ของธุรกิจ Non-Freight ของบริษัทมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ทางบริษัทมีความพร้อมในการพัฒนาและทำการตลาดการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย-จีน แบบ End-to-End กับ บริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และ บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด ภายใต้ชื่อ บริษัท ล้านช้าง เอ๊กซ์เพรส จำกัด และปัจจุบันกำลังทำการศึกษาที่จะจัดตั้งบริษัท JV อีกหนึ่งบริษัทเพื่อลงทุนในระบบการขนส่งสินค้า Cold Chain ไปยังประเทศจีนทางรถไฟ เพื่อรองรับการส่งออกสินค้าผลไม้จากไทยไปจีนทางบกที่มีปริมาณสูงถึง 420,000 ตันต่อปี และมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 3.3 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทาง LEO มีความพร้อมที่สุดในแง่ของเครือข่าย ระบบ และ โครงสร้างพื้นฐานที่จะให้การบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังประเทศจีนสำหรับฤดูกาลส่งออกผลไม้ของปี 2566 ด้วยโครงสร้างราคาที่ดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ
ทั้งนี้บริษัทก็ยังมีการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น Non Logistics โดยจะทำการต่อยอดธุรกิจกัญชงและกัญชาที่ได้มีการลงนาม MOU กับทางวิสาหกิจชุนชนสุขฤทัย และบริษัท แคนบิซ จำกัด ให้สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นธุรกิจใหม่และสร้างรายได้ให้กับทางบริษัทในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจการเป็นตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพื่อส่งให้ E-commerce Platform ของ China Post และ Tengjin ภายใต้ชื่อ บริษัท ลีโอ ซอร์สซิ่ง แอนด์ ซัพพลายเชน จำกัด ที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทเชื่อว่าธุรกิจ Non Freight และ Non-Logistics ใหม่ทั้งหมดนี้จะสามารถมาช่วยทดแทนรายได้ค่าระวางเรือที่เริ่มปรับตัวลดลงตามแนวโน้มอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งบริษัทยังคงเดินหน้าเรื่องการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ (M&A) กับพันธมิตรที่เป็นบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกัมพูชา, แคนาดา, เบลเยี่ยม, สิงคโปร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกหลายโครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/2566 ถึง ไตรมาส 2/2566 และสามารถสรุปได้ภายในไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งการ M&A หลายๆ โครงการนี้ จะสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดด โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ใหม่ๆ ที่เกิดจากธุรกิจ JV และ M&A ทั้งหมดนี้ จะมีรายได้ประมาณ 500-600 ล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
“การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ด้วยความคิด 365 Degree Collaboration จะช่วยให้ LEO เป็น Growth Stock ที่มีเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยนำจุดแข็งของแต่ละพันธมิตรมาพัฒนาธุรกิจและสร้าง Synergy (การผสานพลัง) ร่วมกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าการสร้าง Synergy ร่วมกันจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ใช่แค่ 1+1= 2 แต่จะเป็น 3 หรือ 4 หรือ 5 และช่วยให้ LEO สามารถขยายขอบเขตของธุรกิจและการบริการได้มากขึ้น รวมถึงมีฐานของลูกค้าใหม่ได้หลากหลายมากขึ้น สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็น Blue Chip Stock ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร” นายเกตติวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ LEO ในฐานะที่เป็น End-to-End Logistics Services Provider มีแผนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่จะให้บริการในลักษณะของ Green Logistics พัฒนาให้บริการขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้รถพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือก่อให้เกิดขยะ มุ่งเน้นการลดมลพิษทางอากาศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงพัฒนาระบบการให้บริการให้อยู่ในระบบดิจิทัล เพื่อลดการสิ้นเปลืองในการใช้กระดาษ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สามารถลดภาวะโลกร้อนและเปลี่ยนให้เป็น Carbon Credit ให้กับลูกค้าของเรา และทำให้ลูกค้าของเราได้รับการยอมรับในการดำเนินธุรกิจในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG และการลด Carbon Footprint เป็นอย่างมาก
“ทางบริษัทสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามคำมั่นสัญญาที่เรามีให้กับนักลงทุนตั้งแต่เราเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ LEO สามารถย้ายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ภายในปี 2567 เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของบริษัทฯที่จะเป็นหนึ่งในหุ้น Blue Chip Stock ของธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรในประเทศไทยที่มีการเติบโตยั่งยืน สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ” นายเกตติวิทย์ กล่าว