EA ลั่นไตรมาส 3 ส่งมอบ “เมล์อีวี” ครบ 100% เดินหน้าชิงเค้ก “ขสมก.” 1.2 พันคัน

EA มั่นใจไตรมาส 3/66 ส่งมอบรถเมล์อีวีครบทั้ง 100% พร้อมเดินหน้าประมูลรถเมล์ไฟฟ้าที่คาดว่า “ขสมก.” จะเปิด TOR ในเร็วๆ นี้


นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ออกอากาศทาง Kaohoon TV On line และสถานีวิทยุกระจายเสียง ขส.ทบ. FM 102 MHz วันนี้ (1 ก.พ.66) เกี่ยวกับประเด็นการลงทุนใน บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จํากัด (มหาชน) หรือ APOT ว่าขณะนี้มีการพูดคุยกันกับทาง บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

โดยหากโปรเจ็กต์ดังกล่าวได้มีการเกิดขึ้นจริงคาดว่าจะส่งผลดีกับส่วนรวมเป็นอย่างมากจากราคาที่ถูกลง เนื่องจากปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้มีราคาแพง โดยเฉพาะเกษตรกรที่จะมีต้นทุนที่ถูกลง ตามราคาปุ๋ยที่ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าลงทุนดังกล่าวเป็นเพียงการเริ่มต้น ซึ่งคาดว่ายังไม่น่าเห็นผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญมากนัก โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นในส่วนของธุรกิจ EV เป็นหลัก ทั้งในส่วนของรถบรรทุก หัวรถลาก รถปิ๊กอัพ ที่จะเป็นฟันเฟืองหลักที่จะสนับสนุนการเติบโตในปีนี้

ขณะที่ประเด็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า รวม 71 เส้นทาง บริษัทมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งในส่วนของสภาพอากาศ คุณภาพชีวิต และความทันสมัยต่างๆ ที่จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารได้มากขึ้น ซึ่งกุญแจสำคัญหลักคือต้องรักษาระดับราคาให้คงที่ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค

โดยปัจจุบันรถเมล์ในกทม. จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือจากทาง ขสมก. และจากทางเอกชน ที่มีการประมูลเส้นทางเดินรถ รวมแล้วประมาณ 6,000 คัน ซึ่งในปี 2565 บริษัทได้ทำการส่งมอบรถเมล์ไฟฟ้าให้กับทางพาร์ทเนอร์ที่เป็นเอกชน จำนวน 1,200 คัน ซึ่งในปี 2566 บริษัทวางเป้าว่าจะส่งมอบได้อีกราว 1,800-2,000 คัน

ขณะที่ในส่วนของ ขสมก. เองคาดว่าภายหลังจากนี้อาจมีการเขียน TOR ออกมา หรือมีการเรียกประมูล ราว 1,200 คัน ซึ่งทางบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าไปร่วมประมูลดังกล่าว แต่สำหรับในกลุ่มของ EA คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ครบ 100% ภายในไตรมาส 3/66 นี้

ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังให้มีมาตรการสนับสนุนธุรกิจ EV เพื่อให้มีกำลังในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยผู้เหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้

“หากไทยมีฐานการผลิตแบตเตอร์รี จะสามารถไปเสริมในเรื่องของต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากของที่ทำได้เองในประเทศจะมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าในระยะยาว” นายอมร กล่าว

Back to top button