จับตา 3 หุ้นเครือซีพีพุ่งต่อ! เก็งผนึก “แจ็ค หม่า” ต่อยอดธุรกิจ Virtual Bank
จับตา 3 หุ้นเครือซีพี CPALL-CPF-TRUE พุ่งต่อ! เก็งผนึก "แจ็ค หม่า" ต่อยอดธุรกิจ Virtual Bank
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(2 ก.พ.66) จับตาราคาหุ้นกลุ่มเครือ CP บวกต่อ รับกระแสข่าวเชิงบวกประเด็นเจ้าสัวธนินท์ พร้อมลูกชายทั้ง 3 พบกับนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบาที่ฮ่องกงในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยคาดว่าจะหารือเกี่ยวกับการลงทุนธุรกิจร่วมกัน
โดยก่อนหน้านี้ แจ็ค หม่า ก็ได้เดินทางมาไทยและมีนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการบริษัท เจียไต๋ เอ็นเทอร์ไพรส์ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมภรรยาดูแลให้การต้อนรับ พร้อมถ่ายภาพกับ “เจ๊ไฝ” ร้านดังจนกลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล ขณะที่วานนี้ราคาหุ้นบริษัท เจียไต๋ เอ็นเทอร์ไพรส์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทในกลุ่ม CP ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงพุ่งขึ้นแรงกว่า 200% ตอบรับประเด็นนี้
ส่วนด้านราคาหุ้นกลุ่ม CP ปิดตลาดวานนี้(1ก.พ.66) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน นำโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ปิดวานนี้มี่ระดับ 23.90 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 1.27% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 612.31 ล้านบาท, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ปิดวานนี้มี่ระดับ 67.25 บาท บวก 0.075 บาท หรือ 1.13% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.5 พันล้านบาท, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ปิดวานนี้มี่ระดับ 4.90 บาท บวก 0.04 บาท หรือ 0.82% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 77.60 ล้านบาท
ด้านนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง มองว่า การเดินทางไปพบปะพูดคุยระหว่างเจ้าสัวธนินท์พร้อมบุตรชายทั้ง 3 กับแจ็ค หม่า คาดว่าจะมีประเด็นโอกาสทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต เนื่องจากกลุ่ม CP และแจ๊ค หม่า ต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงทุนร่วมกันผ่าน Ascend Money ที่แจ๊ค หม่า ส่ง ANT FINANCIAL เข้าถือหุ้นด้วย จึงน่าจะมีโอกาสในการต่อยอดธุรกิจอื่นๆร่วมกันได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
ส่วนบริษัท เจียไต๋ เอ็นเทอร์ไพรส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทย่อยของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ทำให้จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในกลุ่ม ซึ่งราคาหุ้นกลุ่ม CP วานนี้ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการการเงิน ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างกลุ่มซีพีกับ แจ็ค หม่า อาจเป็นการต่อยอดในด้านบริการทางการเงินจากธุรกิจ True money ไปสู่การขอยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank ซึ่งการทำธุรกิจแบงก์พาณิชย์ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจเป้าหมายของเครือซีพี โดยช่วงที่ผ่านมาได้เข้าหารือในเบื้องต้นกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นทั้งทางธุรกิจและส่วนตัว เพื่อศึกษาโอกาสการทำ Virtual Bank แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆออกมา
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เข้าสู่ธุรกิจการเงินผ่าน บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของอีวอลเลตอย่าง “ทรูมันนี่” (TrueMoney) และในปี 59 บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ในเครืออาลีบาบา ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และร่วมร่วมลงทุนในบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เพื่อร่วมผลักดันการเติบโตของระบบการใช้จ่ายดิจิทัลในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ได้จัดตั้ง บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาต “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” จาก ธปท. เมื่อช่วงต้นปี 64 ปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับรายย่อย วงเงินไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของบริการบนแพลตฟอร์ม “ทรูมันนี่” โดยได้เปิดตัวบริการซื้อขายกองทุนรวมผ่านแอปพลิเคชั่น True Money รวมทั้งเมื่อปลายปี 64 นอกจากนี้ กลุ่ม ซี.พี.ยังมีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศเกือบ 14,000 สาขา เพื่อรองรับการสนับสนุนบริการของ virtual bank ได้เป็นอย่างดี
ส่วนก่อนหน้านี้(18 ม.ค.66)นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เผยว่า ธปท.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (consultation paper) เพื่อเปิดให้มีผู้ให้บริการ Virtual Bank ในช่วง 12 ม.ค.-12 ก.พ. 66 เพื่อสรุปแนวทางการขอจัดตั้งรอบสุดท้าย และเปิดให้ผู้สนใจยื่นจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาภายในไตรมาส 1/66
โดยให้เวลายื่นขอ 6 เดือน จากนั้นธปท.และกระทรวงการคลังจะพิจารณา และประกาศรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้งภายในไตรมาส 2/67 จำนวน 3 ราย เพื่อเตรียมความพร้อมและเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2/68
“ในระยะแรกพิจารณาให้ไม่เกิน 3 รายก่อน ในอนาคตมีโอกาสเปิดเพิ่ม ต้องติดตามประเมินผล ไม่ได้อยากให้มีการแข่งขันเกินไป 3 รายกำลังพอดี การมีธนาคารใหม่ ธปท.ต้องเข้าไปกำกับดูแลใกล้ชิด ก็ต้องดูกำลังของเราด้วยว่าจะกำกับดูแลได้มากแค่ไหน ซึ่งพิจารณาแล้วว่า 3 รายกำลังดี ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจประมาณ 10 ราย จากหลายประเภทธุรกิจ”