“Virtual Bank” มองโลก มองเรา
“Virtual Bank” มองโลก มองเรา…ทำไม “ยักษ์ใหญ่” ตลาดทุนสนใจ
Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา กำลังกลายเป็นการเปิดตลาดใหม่ของสถาบันทางเงินในไทย ที่เหล่าบรรดาบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างพร้อมเสนอตัวอยากเข้ามาจับจอง และมีส่วนแบ่งในธุรกิจนี้ หนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยว่า Virtual Bank แตกต่างจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารต่างๆที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันนี้มากน้อยแค่ไหน และไทยพร้อมที่จะก้าวข้ามสู่การเกิดขึ้นของ “ธนาคารไร้สาขา” หรือไม่
หากมองออกไปในต่างประเทศ Virtual Bank ถือเป็นเทรนด์ของบริการทางการเงินที่มีการวางแผน และคิดมาแล้วในระยะหนึ่ง ตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อนจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในช่วงโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้น
อย่างในประเทศญี่ปุ่นธนาคารยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค คิวชู นั้นคือ ธนาคารกลุ่มฟุกุโอกะ ได้จับมือกับ Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ และ Google Cloud ร่วมกันพัฒนา Virtual Bank ภายใต้ชื่อ Minna Bank เพื่อเป็นธนาคารไร้สาขา สามารถทำธุรกรรมการเงินที่เหมือนไปธนาคารจริงๆ ได้เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่ม Digital Native หรือพูดง่ายๆ คือ กลุ่มคนที่มีกูเกิ้ลใช้ตั้งแต่ลืมตาดูโลก และเติบโตมากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั่นเอง
นอกจากที่ Minna Bank จะมีบริการพื้นฐานทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะการเปิดบัญชี การฝากถอน หรือโอนเงินนั้น ความแตกต่างของ Minna Bank คือการเป็นธนาคารแรกของญี่ปุ่นที่ถูกพัฒนาบนระบบคลาวด์ ทำให้หัวใจของธนาคารถูกเบนไปทางเทคโนโลยี เอไอ และ Big Data ซึ่งมีจุดน่าสนใจตรงที่เป็นการให้บริการแบบ hyper-personalization หรือการให้บริการแบบรู้ใจลูกค้า มี interface ที่ตอบโจทย์ลูกค้ารายคน โดยระบบเอไอจะเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าว่ามีการใช้บริการด้านไหนเป็นประจำ หรือชื่นชอบบริการอะไรของ Virtual Bank ระบบก็จะนำเสนอบริการเหล่านั้นให้กับลูกค้าได้ทันทีที่เริ่มเข้ามาใช้งาน
รวมถึงการมีบริการด้านแพลตฟอร์มให้กับธุรกิจการเงินอื่นๆ อย่างเช่นการวางแผนทางการเงิน หรือการลงทุน ที่ปกติแล้วแต่ละคน จะต้องเปิดบัญชีหลายบัญชีสำหรับผลิตภัณฑ์ทางเงินแต่ละประเภท ระบบเอไอก็จะช่วยเข้ามาจัดการให้เรื่องต่างๆ ไม่ยุ่งยาก และมีความสะดวกสบายมากขึ้น ตอบโจทย์การเป็น Virtual Bank ซึ่งเป็นธุรการเงินของโลกอนาคต
หากมองกลับมาในไทย แม้ Virtual Bank จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ แต่เทรนด์การใช้ธุรกรรมทางการเงินในโลกเสมือนก็เกิดขึ้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น แอพ “เป๋าตัง” พัฒนาโดย บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกรุงไทย ที่มีการนำบริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆมาให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการชิมช้อปใช้ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล บริการวอลเล็ต สบม. บริการ Gold Wallet บริการชำระเงิน กยศ การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลดิจิทัล
หรือล่าสุดได้เปิดตัว เป๋าตังเปย์ ฟีเจอร์ใหม่บนแอปฯเป๋าตัง เริ่มเปิดให้สมัครใช้งานตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เปิดกว้างสำหรับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย ซึ่งถือเป็นการปรับตัวของสถาบันการเงินกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านจาก อะนาล็อก สู่ ดิจิทัล ที่แลกมาด้วยผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมการใช้บริการนำพันล้านบาท
ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทยักษ์ทั้ง ADVANC BTS JMART และ กลุ่มซีพี จะจับมือกับสถาบันการเงินพันธมิตร ก้าวกระโดดมาร่วมวง Virtual Bank ซึ่งกำลังกลายเป็นกระแสโลกที่อุตสาหกรรมการเงินอาจไม่ได้แข่งกันภายในอุตสาหกรรมอีกต่อไป แต่หากใครมีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีก็จะตอบโจทย์กับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที