BVG เคาะราคาไอพีโอ 3.85 บ. เปิดจอง 8-10 ก.พ.นี้ เดินเกมรุกบุกตลาดอาเซียน

“บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป” หรือ BVG ตั้ง “บล.เคจีไอ” นั่งลีดอันเดอร์ไรท์เตอร์ เคาะราคาไอพีโอ 3.85 บ. เปิดจอง 8-10 ก.พ.นี้ พร้อมเทรดกลางเดือนนี้ เดินหน้าระดมทุนพัฒนาระ AI และเทคโนโลยี ลุยขับเคลื่อนธุรกิจขยายตลาดอาเซียน


บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งให้ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE จำนวนไม่เกิน 67.50 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้น 157.50 ล้านหุ้น

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร BVG เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้นำการประกอบธุรกิจให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน สำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสบการณ์ในการใช้บริการและตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา”

โดยได้นำฐานข้อมูล (Big Data) มาใช้พัฒนาระบบการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อให้บริการระบบแพลตฟอร์มกลางในการจัดการธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ ภายใต้ระบบ EMCS และ บริการ TPA เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานกระบวนการทำงานของอุตสาหกรรมประกัน ก้าวสู่การเป็น InsurTech เต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ กลุ่ม BVG ยังให้บริการฝึกอบรมแก่บุคลากรในธุรกิจประกันภัย ให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านการดำเนินงานของ บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด, บริษัท บลูเวนเจอร์ แอคชัวเรียล จำกัด และ บริษัท  บลูเวนเจอร์ เทค จำกัด ที่ BVG ถือหุ้น 100%

ทั้งนี้ BVG เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินไหมทดแทนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการดำเนินธุรกิจประกัน ช่วยผู้ประกอบการลดขั้นตอน ระยะเวลา และลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างประสบการณ์การให้บริการที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายต่อการใช้งาน ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีแผนขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ภาคธุรกิจการเงินและขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังตลาดไปในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

“BVG เป็น Tech Company ที่นำเทคโนโลยีและ Big Data มาใช้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้แก่ลูกค้าในภาคธุรกิจประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ โดยเราพร้อมสร้างการเติบโตจากการขยายขอบเขตการให้บริการด้วยการนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ พลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันสู่การเป็น InsurTech รวมถึงรุกขยายการให้บริการไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” นายโอฬาร กล่าว

ด้านนางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BVG กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ BVG จะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และการให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน ผ่านระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (บริการ TPA) โดยนำเทคโนโลยี AI มาใช้ต่อยอดนวัตกรรมการให้บริการ ช่วยยกระดับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ จะมุ่งขยายเครือข่ายผู้ให้บริการให้ครอบคลุมทุกกระบวนการของธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายการให้บริการระบบ EMCS, บริการ TPA และการให้บริการคำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยของกลุ่ม BVG ไปในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจประกันภัย เช่น ระบบ EMCS มีแผนพัฒนาบริการ AI Estimate หรือระบบการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากการเกิดอุบัติเหตุเพื่อประมาณการค่าสินไหม และ AI Inspection เพื่อช่วยบริษัทประกันภัยในการตรวจสภาพรถยนต์ในขั้นตอนการต่อกรมธรรม์ โครงการ Garage Lending หรือการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถยนต์ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอู่ซ่อมรถยนต์กับสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้ BVG สามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ภาคการเงินที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม และตอกย้ำการเป็น Industries Game Changer ได้อย่างแท้จริง

ขณะที่บริการ TPA บริษัทฯ มีแผนจัดทำโครงการพัฒนาระบบ Optical Character Recognition ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานโดยไม่ใช้กระดาษ รองรับการปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาลไปสู่ Digital Transformation และสามารถต่อยอดสู่การให้บริการ AI Claim Assessment Automation เพื่อพิจารณาค่าสินไหมโรคพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง รองรับจำนวนผู้เอาประกันภัยและจำนวนรายการสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้น

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรวม 384.06 ล้านบาท 388.39 ล้านบาท และ 400.24 ล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้จากการให้บริการ 323.50 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 299.55 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตมาจากการให้บริการเทคโนโลยี AI สำหรับประมวลผลการพิจารณากระบวนการอนุมัติซ่อมและอนุมัติค่าสินไหมประกันภัย (AI Reviews) ในระบบ EMCS เพื่อให้บริการแก่บริษัทประกันภัยรถยนต์ ซึ่งทำรายได้ 11.87 ล้านบาท และคาดว่าแนวโน้มรายได้จากการให้บริการด้วยเทคโนโลยี AI จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ส่วนนางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า หลังจากนำเสนอแผนการดำเนินงานและศักยภาพการเติบโตของ BVG พบว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่ดีจากความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของบริษัทฯ และจุดเด่นที่เป็นผู้นำการให้บริการระบบ EMCS และ TPA ที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทประกัน ด้วยแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมขั้นตอนการพิจารณาสินไหมของประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ รวมถึงแผนการนำเทคโนโลยี AI มาต่อยอดเพื่อยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์การให้บริการ และพร้อมสร้างการเติบโตจากการรุกขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น จึงกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญที่ 3.85 บาทต่อหุ้น พร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะสามารถนำหลักทรัพย์ BVG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนนำเงินจากการระดมทุนไปพัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจและการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป

Back to top button