PTTEP ทุ่ม 1.66 แสนล้าน ลุยธุรกิจใหม่ 5 ปี ลุ้นคว้าสิทธิ 3 แหล่งอ่าวไทย ก.พ.นี้
PTTEP ทุ่ม 1.66 แสนล้านบาท เดินหน้าธุรกิจใหม่ใน 5 ปี รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ตั้งเป้าสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2573 พร้อมคว้าสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 24 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/65, G2/65 และ G3/65
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า มีการสำรองเงินลงทุน 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 166,052 ล้านบาท ในแผน 5 ปี (ระหว่างปี 2566-2570) เพื่อขยายการลงทุนธุรกิจใหม่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ตั้งเป้าสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2573
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า อย่าง Gas to Power, LNG to Power, Renewable เป็นต้น รวมถึงธุรกิจ CCS ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด รวมทั้งการต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม งบลงทุนดังกล่าวยังไม่ได้รวมการซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งหากมีโอกาสที่ดี หรือมองเห็นว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ PTTEP ก็พร้อมที่จะพิจารณาเข้าลงทุน โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) จะเน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่กำหนด ทั้งในพื้นที่ประเทศไทย มาเลเซีย หรือตะวันออกกลาง
ด้าน น.ส.อรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน PTTEP กล่าวว่า สำหรับการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 24 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/65, G2/65 และ G3/65 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต บริษัทได้ยื่นประมูลขอรับสิทธิในครั้งนี้ด้วยทั้ง 3 แปลง คาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกภายในเดือนนี้ ซึ่ง PTTEP เชื่อว่าจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตให้กับบริษัทได้
ส่วนบริษัทยังคาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 1/2566 และทั้งปี 2566 ไว้ที่ประมาณ 472,000 และ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยจะมาจากการเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) รวมถึงการเปิดประเทศจีนน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทฯ เนื่องจากทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบฟื้นตัวดียิ่งขึ้น
ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติติเฉลี่ยในไตรมาส 1/2566 และทั้งปี 2566 คาดจะอยู่ที่ประมาณ 6.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และ 6.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ตามลำดับ ลดลงจากปีก่อน เป็นตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน โดยคาดราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 75-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) คาดว่าจะลดลงได้เล็กน้อย หรืออยู่ในช่วง 27-28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยหลักมาจากรายจ่ายค่าภาคหลวงต่อหน่วยที่ลดลงตามราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และค่าเสื่อมราคาต่อหน่วยที่ลดลง ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA margin) ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ 70-75%
ขณะที่บริษัทตั้งงบลงทุนทั้งปี 2566 ไว้ที่ 5,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 191,818 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานต่างๆ ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย การเร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410 บี และโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 รวมถึง การเร่งการสำรวจในโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย มาเลเซีย และโอมาน