ลุ้น “เงินเฟ้อไทย” ปีนี้เหลือ 3% จับจ่ายคึกคัก ดันค้าปลีก-บัตรเครดิตฟื้น

จับจ่าย....คึกคัก “เงินเฟ้อ” ม.ค. 66 ลดลงเหลือ 5.02% ลุ้นปีนี้เหลือ 3% หากราคาพลังงานปรับตัวลงต่อเนื่อง บล.ฟิลลิป แนะสอยหุ้นกลุ่ม Spending รับอานิสงส์


ตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวลดลงเหลือ 5.02% ถือปรับตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน อานิสงส์จากราคาน้ำมันปรับลดลง และกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าปีนี้เงินเฟ้ออาจลดลงราว 2-3% หรือค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% โดยลดลงค่อนข้างมากจากปี 2565 ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวถือว่าเหมาะสมและไม่ผันผวน สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมกันกำหนดกรอบเป้าเงินเฟ้อที่ 1-3% เพื่อช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนสามารถวางแผนการลงทุนและการใช้จ่ายสำหรับอนาคตได้

ส่วนมุมมองของ อาจารย์สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยว่า การที่เงินเฟ้อของไทยลดลงเหลือ 5.02% เหตุจากภาพรวมของเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มลดลงหมดแล้ว เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลงมาก แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามที่มีอยู่ แต่ราคาพลังงานก็ยังขึ้นไม่สูง โดยเฉพาะเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาตอนนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 6% ด้วยซ้ำ และยุโรปก็มีการปรับจาก 11% ลงมาเหลือ 8% จนหลายฝ่ายพูดคุยว่าปีหน้าจะลดลงกว่านี้ ซึ่งหากมองมาที่ไทยนั้นปีที่แล้วเงินเฟ้ออยู่ที่ 6% แต่ตอนนี้ก็ลดลงมาเช่นกัน จนทำให้คาดว่าจะลงถึง 3%และยังลงได้อีก เนื่องจากปัจจัยหลักก็คือเพราะราคาพลังงานยังลดลง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐและยุโรปแม้จะปรับตัวลงมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งอาจารย์สมชาย มองว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบกับไทยโดยตรง เพราะไทยมีปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้เศรษฐกิจไปในทิศทางที่ฟื้นตัว เพียงแต่จะมีผลทางอ้อมต่อปัจจัยความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลก จนส่งผลต่อการพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน  ตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร

ทั้งนี้เมื่อมองในมุมของตลาดหุ้น หุ้นวัฏจักรที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน, ยางมะตอย และ ยางพารา โดยธรรมชาติของหุ้นกลุ่มนี้คือราคาจะปรับขึ้นลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เมื่อใดที่เศรษฐกิจดีธุรกิจก็จะดีตามไปด้วย แต่หากเศรษฐกิจซบเซา  ผลประกอบการของบริษัทก็จะซบเซาลงตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน

สอดคล้องกับมุมมองของ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยหนุนต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น และหนุนการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือกลุ่ม Spending หรือกลุ่มจับจ่ายใช้สอย ได้แก่ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC,

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ,บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  HMPRO และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC 

Back to top button